ผนึกเสียงการันตีรายได้-ประกันภัยพร้อม! : โค้งสุดท้ายชวนปลูก"ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์"

     กรุงเทพฯ 10 ม.ค.-นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เร่งนำผลสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เริ่มเก็บเกี่ยวและขายแล้วไปประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย 37 จังหวัดทราบ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมแปลงนำร่องที่อำเภอพิชัยนั้นพบว่า ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 1,200-1,500 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับแปลงที่เกษตรกรดูแลดีนั้นได้มากถึงไร่ละ 1,800 กิโลกรัม เมื่อขายผลผลิตให้แก่บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ทำข้อตกลงกันไว้ได้กำไร 4,000-8,000 บาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับกำไรจากการทำนาปรัง ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คำนวณไว้ได้เพียง 300-400 บาทต่อไร่

       นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสอบถามเกษตรกรพื้นที่นำร่อง เกษตรกรระบุว่าปีที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังทำนาแบบกระจัดกระจาย เมื่อกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรมาทำหน้าที่จัดหาปัจจัยการผลิตและรวบรวมผลผลิต จึงสามารถซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่ต่ำลง การจัดหาเครื่องจักรมาช่วยตั้งแต่การไถ การหยอดเมล็ด จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 1,500 บาทต่อไร่ และขายฝักสดที่ความชื้นร้อยละ 27-30 ได้กิโลกรัมละ 7-8 บาท ซึ่งสูงกว่าทุกปี ในช่วงที่ผ่านมามีบางพื้นที่เกิดหนอนกระทู้หรือหนอนกอมารบกวนแปลงข้าวโพดบ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปกำจัดและควบคุมไม่ให้ระบาดได้ แต่รัฐได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จึงสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรจนมีผู้เข้าร่วมโครงการ 97,488 ราย รวมพื้นที่สมัคร 817,481.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.49 ของพื้นที่แสดงความจำนงทั้งหมด ซึ่งโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนายังเปิดรับสมัครถึงวันที่ 15 มกราคมนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรมาสมัครเพิ่มอีกจำนวนมาก

       นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์แนวโน้มราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะให้ผลผลิตในกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 ว่า ราคาจะปรับตัวจากปัจจุบัน โดยคาดว่าราคาตลาดซื้อขายล่วงหน้าช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม ราคาข้าวโพดและราคาข้าวเปลือกยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นทั้งคู่ แต่ข้าวโพดมีทิศทางการเพิ่มขึ้นมากกว่าข้าวเปลือก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ที่ถูกต้องของกระทรวงเกษตรฯ ทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการทำนาปรังเพื่อลดการผลิตข้าวไม่ให้ล้นตลาด

       นายวิษณุ กล่าวว่า ได้พิจารณาราคาเลี้ยงสัตว์ในประเทศพบว่าทั้งราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาและราคารับซื้อหน้าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ต่างมีทิศทางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในเดือนเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นผลจากเกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพดได้มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้สหกรณ์การเกษตรเป็นกลไกสร้างอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกรผ่าน รวมถึงกระจายผู้รับซื้อไม่ให้กระจุกตัวเพียงรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ความเสี่ยงด้านราคาจึงไม่น่ากังวล ทั้งนี้ หากต้นทุนการผลิตไม่ได้ปรับสูงขึ้น ซึ่ง สศก.คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3,690 บาทต่อไร่ อีกทั้ง การเข้าไปส่งเสริมให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น กำไรของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาจะสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรังเป็น 10 เท่าตัว

       ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือในการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาว่า ทางสมาคมฯได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เนื่องจากสมาคมฯมีสมาชิกเป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 55 แห่ง และมีความต้องการข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก

       ปัจจุบันปริมาณข้าวโพดในประเทศยังขาดแคลนและต้องการให้เพิ่มผลผลิตอีกปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งอาจจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มอีก 3-4 ล้านไร่ และหากสามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกปีละ 3 ล้านตัน ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรที่สามารถลดพื้นที่ทำนาแล้วหันมาปลูกพืชที่มีตลาดรับซื้อแน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม ขณะเดียวกันโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็จะมีวัตถุดิบในประเทศที่เพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์และลดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จึงขอเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึง วันที่ 15 มกราคม 2562