"วท." ลงพื้นที่หนองวัวซอ ขับเคลื่อนทำหมันแมลงวันผลไม้ 7 พันไร่ (ชมคลิป)

         กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ ครม.สัญจร "บึงกาฬ - หนองคาย" จับมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำหมันแมลงวันผลไม้ 7 พันไร่ ที่ "หนองวัวซอ" จ.อุดรฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งออกมะม่วงคุณภาพไปต่างประเทศ สั่ง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ใช้ "รังสี" ควบคุมตั้งแต่ในแปลงปลูกไม่ให้กระทบการส่งออก ด้าน สนช. ร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ฯ ญี่ปุ่น (NEDO) โชว์โรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงานแห่งแรกของเอเชีย

         ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.บึงกาฬ - หนองคาย เพื่อปฎิบัติราชการ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และพบกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะม่วงและผลไม้อื่น พร้อมรับฟังแนวทางการดำเนินการของเกษตรกรพร้อมปัญหาศัตรูพืชจากเกษตรกร จำนวน10 กลุ่ม กว่า 250 คน มีเกษตรกรเครือข่าย 450 หลังคาเรือน โดยพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ประมาณ 7000 ไร่ เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีคุณภาพสำหรับการส่งออก

         ทั้งนี้ ในพื้นที่พบปัญหาแมลงวันทองหรือแมลงผลไม้ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของผลไม้ในประเทศไทย นอกจาก หนอนแมลงวันผลไม้ที่ฟักตัวออกมาจะกัดกินภายในผลไม้ทำให้เน่าเสียแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาที่ต่างประเทศกีดกันไม่ให้นำผลไม้จากประเทศไทยผ่านเข้าประเทศปลายทางได้ ยกเว้นผลไม้ที่ผ่านการกำจัดแมลงทางกักกันพืช เช่น การอบไอน้ำ การฉายรังสี การรมด้วยสารเคมี เป็นต้น

 
         หลังรับฟังปัญหา ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ตนได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เข้าไปทำหมันแมลงวันทองในพื้นที่ อ.หนองวัวซอ ให้เป็นพื้นที่นำร่องทำหมันด้วยรังสี ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมแมลงเชิงรุกตั้งแต่ในแปลงปลูกที่ใช้ได้ผลในหลายประเทศและในประเทศไทยมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในหลายพื้นที่ โดยการปล่อยแมลงวันผลไม้สายพันธุ์หลังขาวที่เป็นหมันร่วมกับวิธีอื่น ในพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ พบว่า จำนวนแมลงวันผลไม้สายพันธุ์ปกติจะลดลง 96.02% เพราะจำนวนดักแด้ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการควบคุมแมลงวัน และการใช้แมลงวันสายพันธุ์หลังขาวในการตรวจสอบติดตามประชากรแมลงวัน พบว่า มีความถูกต้องในการจำแนกแมลงที่เป็นหมันออกจากแมลงในธรรมชาติมากกว่า ใช้เวลา และต้นทุนวัสดุน้อยกว่า

         วิธีการนี้ ใช้ได้ผลในหลายประเทศมาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา (ฟลอริดา) เม็กซิโก ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เปรู ชิลี อิสราเอล และในประเทศไทยมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน ได้แก่ ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ อ.ปากช่อง จ.นครราช สีมา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี อ.บ้านฉาง จ.ระยอง อ.สามเหล็ก จ.พิจิตร อ.ขลุง จ.จันทบุรี และ อ.ลอง จ.แพร่ พบว่าสามารถลดความเสียหายผลไม้ของเกษตรกรที่ถูกทำลายโดยแมลงวันผลไม้ ในธรรมชาติได้มาก โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะนำผู้ส่งออกผัก ผลไม้สดไปยังต่างประเทศ จัดทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะ ม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกทันทีถ้าทำสำเร็จ

         นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้เยี่ยมชมโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงานแห่งแรกในเอเชีย เนื่องในการประชุม ครม.สัญจร "บึงกาฬ-หนองคาย" ผลงานความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สนช. กับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (NEDO) ภายใต้โครงการความร่วมมือตาม MOU ระหว่าง สนช. และองค์การ NEDO ใน "โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงานในประเทศไทย" เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงานในระดับโรงงานต้นแบบครั้งแรกของเอเชีย

         ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อย จัดตั้งอยู่ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีกำลังการผลิต 15 ตันชานอ้อยต่อวัน (หรือคิดเป็น 5,000 ตันชานอ้อยต่อปี) สามารถผลิตน้ำตาลเซลลูโลสได้ 3.7 ตันต่อวัน (หรือคิดเป็น 1,400 ตันต่อปี) ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้เท่ากับ 700,000 ลิตรต่อปี
         สนช. ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้ "บันทึกความเข้าใจโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงาน ในประเทศไทย" ระหว่าง สนช. และ NEDO นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนา ส่งเสริม และต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน ของทั้งสองประเทศ โดย สนช. จะทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือด้านวิชาการและการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐของไทย กับผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งได้แก่ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี บริษัท Toray Industries, Inc., บริษัท Mitsui & Co., Ltd., และ บริษัท Mitsui Sugar Co., Ltd. เพื่อวางแผนในการก่อสร้างและดำเนินการทดสอบในโรงงานต้นแบบดังกล่าวฯ ทั้งนี้องค์การ NEDO ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการลงทุนสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานต้นแบบดังกล่าวฯ ซึ่งการดำเนินโครงการลักษณะนี้จะเป็นการเร่งให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น อันจะส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยในอนาคต

         ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) กล่าวว่า "โรงงานต้นแบบนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ของการผลิตวัตถุดิบจำพวกน้ำตาลจากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลของไทย  โดยโครงการนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปขั้นต้นอย่างชานอ้อยมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น น้ำตาลเซลลูโลส โอลิโกแซคคาไรด์ และ โพลีฟีนอล เป็นต้น ซึ่งใช้พลังงานที่น้อยกว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ปัจจุบัน น้ำตาลเซลลูโลสที่ผลิตได้นั้นสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลเพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินสำหรับผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ได้ ส่วนโอลิโกแซคคาไรด์และโพลีฟีนอลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้สามารถนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์และส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ ตนเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันการพัฒนาความร่วมมือในการแสวงหานวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนที่เกิดจากความร่วมมือในระดับนานาชาติขององค์การ NEDO และ สนช. พร้อมทั้งจะเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาและภาคการผลิตในการเรียนรู้เพื่อดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนของประเทศต่อไป"
         รมว.วท. กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ ไม่เพียงแต่จังหวัดอุดรธานี แต่หมายรวมถึงการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นในอนาคตได้