ฟื้นข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดี"ปิ่นแก้ว": อนุรักษ์-ต่อยอดพัฒนาเชิงพาณิชย์

    นครปฐม - ณ แปลงนา นางวันทนา เอี่ยมสุวรรณ สมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง ม.8 ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีทำขวัญข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว ซึ่งอยู่ในระยะออกดอก มี ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว และเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามผลการปลูกขยายพันธุ์ของเกษตรกร

      อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วที่ปลูกในครั้งนี้เป็นข้าวเจ้านาสวน ไวต่อช่วงแสง และเป็นหนึ่งในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่กรมการข้าวได้เก็บรวบรวมจากจังหวัดต่างๆ เก็บรักษาไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว ภายในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 15 ถึง-10 องศาเซลเซียส ระยะการเก็บรักษาตั้งแต่ 3–50 ปี เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย ซึ่งในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำให้พันธุ์นี้เสียหาย ในขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปเกษตรกรหันมาปลูกข้าวพันธุ์อื่นแทน โดยกรมการข้าวได้มอบเมล็ดพันธุ์ น้ำหนัก 10 กรัม หรือประมาณ 300 เมล็ด จากแหล่งรวบรวมพันธุ์ข้าว จ.พิษณุโลก ให้แก่สหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด เมื่อปี 2559 ตามความประสงค์ที่จะนำมาขยายพันธุ์ต่อ เพื่ออนุรักษ์และเรียนรู้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอดีต เนื่องจาก จ.นครปฐม ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่มีคุณภาพโด่งดัง จนมีคำขวัญว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว...” 

      นายบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง เปิดเผยว่า การเพาะปลูกขยายพันธุ์ช่วงแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ประคับประคองจนเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2560 น้ำหนัก 300 กรัม สมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยงจึงนำมาเพาะปลูกขยายพันธุ์ต่อบนที่นาแห่งนี้ประมาณ 1 ไร่ โดยทำการเพาะตกกล้าปลูกครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 และปักดำเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 จนกระทั่งต้นข้าวอยู่ในระยะออกดอก จึงเป็นที่มาของการทำขวัญข้าวตามประเพณี โดยนางเฉลิม โสตถิฉัตต์ ปราชญ์อาวุโสของชุมชนในสหกรณ์บ้านคลองโยง เป็นผู้ทำพิธีเพื่อบำรุงขวัญให้แม่โพสพดูแลรักษาผลผลิตให้อุดมสมบูรณ์ และสร้างกำลังใจให้เกษตรกรที่รอคอยยลโฉมและลิ้มรสชาติข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว

      อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เคยโด่งดังในอดีต แต่การปลูกในหลายพื้นที่ทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน จนกระทั่งปัจจุบันมีการปลูกน้อยมากจนแทบจะไม่เหลือพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วหลงเหลืออยู่ในมือเกษตรกร แต่ก็ยังมีกลุ่มเกษตรกรที่ให้ความสนใจศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวนี้ กรมการข้าวจึงติดตามการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วในครั้งนี้ โดยจะขอเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์ดูลักษณะทางกายภาพ คุณภาพของข้าว ซึ่งหากยังคงมีลักษณะและคุณภาพที่ดี ก็จะศึกษาแนวทางในการพัฒนาแปรรูปข้าวในเชิงพาณิชย์ต่อไป

      ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว เป็นข้าวเจ้านาสวนเมล็ดยาว เนื้อแข็งเป็นมัน ไม่เป็นท้องไข่ เปลือกและปลอกบาง เมล็ดไม่บิดไม่โค้ง ไม่มีเมล็ดแดงปน น้ำหนักดี ใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์อยู่ที่สถานีทดลองฯ นาน 12 ปี 

ปฐมบท...ข้าวปิ่นแก้ว

      หากย้อนไปในปี 2476 สมัยรัชกาลที่ 7 คนในแวดวงข้าวคงจำได้ดีว่า“ข้าวปิ่นแก้วหรือสามกษัตริย์” ข้าวพันธุ์ดีของไทยที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ จ.นครปฐม คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวโลกที่ประเทศแคนาดา ทว่า ต่อมาข้าวพันธุ์นี้กลับหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย กระทั่งชาวชุมชน ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล มีแนวคิดพลิกฟื้นตำนานข้าวปิ่นแก้วกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิดอีกครั้ง โดยสหกรณ์หมู่บ้านคลองโยง ร่วมกับมูลนิธิรากแก้ว ในเครือข่ายมูลนิธิปิดทองหลังพระ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมการข้าว หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชุมชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆขึ้น เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์นี้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยต่อไป