เร่งจ่ายเงินช่วยเหลือ-จี้อปท.ทำถนน-หนุนแปรรูปส่งออก : ลดพื้นที่ปลูกแก้ปัญหายั่งยืน

 

      รุงเทพฯ 29 พ.ย.- นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนย .มอบหมาย โดยกล่าวว่า กนย. มีมติเห็นชอบ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ กว่า 1.3 ล้านราย โดยเจ้าของสวนยางกว่า 900,000 ราย ได้รับ 1,100 บาท และคนกรีดยางกว่า 300,000 ได้รายละ 700 บาท 2.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศประมาณ 80,000 แห่ง ทำถนนยางพาราผสมอย่างน้อยหมู่บ้านและตำบลละ 1 กิโลเมตร และ 3.ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้งกลุ่มแปรรูปยางพาราเพื่อการส่งออก 

      ทั้งนี้ สำรวจเบื้องต้นมีอย่างน้อย 8 กลุ่มที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จ อาทิ สหกรณ์ชาวสวนยาง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี สามารถทำโรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแท่งส่งออกต่างประเทศ เพื่อนำไปผลิตล้อยางและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงใช้เป็นต้นแบบให้สหกรณ์ชาวสวนยางที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เพื่อเกษตรกรจะได้รับประโยชน์โดยตรง ไม่ถูกกดราคาโดยคนกลาง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะคัดเลือกสหกรณ์ที่สนใจเข้ามาดำเนินโครงการโดยเร็วและกรมฯ สนันสนุนด้านเครื่องจักร เครื่องกล รวมทั้งส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูป

      นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สัปดาห์หน้าจะเชิญบริษัทผลิตล้อยางรถยนต์ทั้งของไทยและต่างประเทศที่มีโรงงานในไทยมาประชุม เพื่อขอความร่วมมือรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง เพื่อเพิ่มปริมาณรับซื้อมากขึ้น ซึ่งรัฐจะให้สิทธิพิเศษทางภาษี รวมทั้งการสนับสนุนผู้ที่จะมาตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (อีอีซี)

      สำหรับมาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างยั่งยืน ต้องลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม 4 ล้านไร่ โดยตั้งคณะทำงานพิเศษดูแลอย่างเป็นรูปธรรมและใกล้ชิดกับเกษตรกร ในการหาพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินแต่ละพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกยาง โดยมอบหมายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำแผนส่งเสริมปลูกพืชอื่นทดแทนยาง หรือปลูกแซมในสวนยางที่มีอายุ 25 ปี หรือเกิน 15 ปีที่ต้นโทรมและให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มทุน ซึ่งแผนนี้ต้องเสร็จก่อนปีใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนว่าพืชชนิดใดที่นำมาทดแทนยาง มีผลตอบแทนสูง มีตลาดรองรับ เพื่อเป็นของขวัญให้กับเกษตรกรสวนยางทั่วประเทศ

       ส่วนนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ผลักดันให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออกยางแปรรูป ตั้งเป้าหมายส่งออกไปจีน 100,000 ตัน ระหว่าง 1 ธันวาคม 2561-31 มีนาคม 2562 ซึ่งคัดเลือกสหกรณ์ฯ 18 แห่งดำเนินการ เป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพสูงส่งออกเอง 6 แห่ง อีก12 แห่งเชื่อมผู้ส่งออกเอกชน แปรรูปยางก้อน ยางแท่ง ทั้งนี้ จะรับซื้อยางจากสหกรณ์เครือข่าย 154 สหกรณ์ โดยขอวงเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท รวบรวมยางพารา จัดหาเครื่องจักร เครื่องมือให้เสร็จก่อนฤดูปิดกรีดยางเมษายน 2562 ซึ่งจะช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากการขายยางในราคาที่สูงขึ้น ไม่ถูกคนกลางกดราคา ทั้งจะสำรวจความสามารถสหกรณ์แห่งอื่นๆที่เข้มแข็งเพิ่มการแปรรูปรับซื้อยางจากเกษตรกรได้มากขึ้น ขณะนี้ตลาดสำคัญ คือจีน และเตรียมพร้อมเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นอีก

       ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมกำหนดแบบก่อสร้างกลางและคู่มือทำถนนผสมยางพารา ว่า ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยในการใช้ยางพาราทำถนน ตั้งเป้าหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร ใน 80,000 หมู่บ้าน รวม 80,000 กิโลเมตรทั่วประเทศซึ่งระยะทาง 1 กิโลเมตรจะใช้ยางประมาณ 10 ตัน โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้น มอบหมายให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักทำข้อมูลการใช้ถนนของท้องถิ่น ซึ่งคู่มือจากกรมทางหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้กำหนดราคากลาง