"กฤษฎา" เซ็นเอ็มโอยู ร่วมมือด้านการเกษตรกับแอฟริกาใต้

         รัฐมนตรีเกษตรฯ ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร กับกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ หวังเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร
         นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ณ โรงแรมอมารี ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างไทยและแอฟริกาใต้ดังกล่าว จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการเกษตร ระหว่างไทยและแอฟริกาใต้ และสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรในหลายด้าน ได้แก่ ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง การชลประทาน การใช้ที่ดิน สหกรณ์ สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรฐานอาหาร นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร รวมทั้งเป็นช่องทางในการขยายโอกาสทางการค้าสินค้าเกษตร และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา โดยหลังจากลงนามบันทึกความเข้าใจฯ แล้ว ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร และจะได้จัดประชุม ครั้งที่ 1 ต่อไป ในเบื้องต้นประเทศแอฟริกาใต้สนใจที่จะขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจากไทย อาทิ ไก่แปรรูป ลำไย มังคุด และยางพารา รวมทั้งสนใจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของไทย เป็นต้น

         กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีกับกระทรวงเกษตรป่าไม้ และการประมงสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 25 และเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรร่วมกัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรอย่างเป็นทางการระหว่างสองกระทรวง ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักวิจัย มีการวิจัยร่วมด้านการเกษตร ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ มีการฝึกอบรม ซึ่งรวมถึงหลักสูตร การสัมมนา และการศึกษาดูงาน และการฝึกอบรมที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาด้านการตลาด และการส่งเสริมธุรกิจการเกษตรและความสัมพันธ์ทางการค้า ตลอดจนการส่งเสริมการติดต่อระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไป
         "ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ในการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งแอฟริกาใต้มีความต้องการจะเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวจากไทย มากขึ้น และนอกจากนี้ยังต้องการนำเข้าผลไม้จากไทยเพิ่มเติมอีก 2 ชนิดคือ ลำไย และมังคุด เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม มีรสชาติถูกปากคนแอฟริกาใต้ รวมทั้งไทยได้หารือด้านการส่งออกยางพาราไปแอฟริกาใต้ เนื่องจากเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลก และเป็นโอกาสอันดีที่แอฟริกาใต้ยินดีให้นักลงทุนยางพาราไทยเข้าไปผลิตยางรถยนต์ เพื่อประกอบเป็นตัวรถในประเทศแอฟริกาใต้ด้วย" นายกฤษฎา กล่าว
         ปัจจุบัน แอฟริกาใต้ผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับ 1 ในทวีปแอฟริกา เป็นฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น General Motor, Daimler, Chryler, BMW, Ford และ Toyota คาดว่าในปี 2563 จะมียอดการผลิตถึง 1 ล้านคัน ส่วนประเทศไทยก็เป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติที่หลากหลายมากที่สุด มีคุณภาพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง ซึ่งยางแท่งจากไทยถือเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่จะมีโอกาสทางการค้าที่ดีในตลาดแอฟริกาใต้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศแอฟริกาใต้มีความต้องการสูงที่สุด และส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยมีเพียงร้อยละ 5.25 ดังนั้นประเทศไทยจึงพร้อมเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบและส่งออกยางพาราให้กับแอฟริกาใต้ เพื่อนำไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแอฟริกาใต้ที่มีแนวโน้มกำลังเติบโตในขณะนี้ รวมทั้งไทยยินดีที่จะร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารากับหน่วยงานภาครัฐของแอฟริกาใต้ เพื่อสร้างนวัตกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของสองประเทศในอนาคตด้วย