โพลชี้ "เอสเอ็มอีเกษตรไทย" ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี

         มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจในหัวข้อ "แนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปไทยในยุคดิจิทัล" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,219 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอุตสาหกรรมไม่ใช่อาหารร้อยละ  22.49 และอุตสาหกรรมอาหารร้อยละ 77.51 พบว่า ตลาดส่วนใหญ่ ขายในประเทศร้อยละ  95.72 ขายในประเทศคู่ต่างประเทศร้อยละ 4.12 และตลาดเฉพาะต่างประเทศร้อยละ 0.16 โดยผู้ประกอบการมีการขายออนไลน์ถึงร้อยละ 65.7 ส่วนไม่มีการขายออนไลน์ร้อยละ 34.3
         อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สามารถยกระดับธุรกิจเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นสูงสำเร็จมีเพียงร้อยละ 2.87 เท่านั้น ส่วนทำธุรกิจในยุค 3.0 คือ ใช้เครื่องจักรหนักมากขึ้นร้อยละ 1.97 ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจแบบยุค 2.0 อาศัยแรงงานร่วมกับเครื่องจักรขนาดเล็ก สูงถึงร้อยละ 72.33 และทำธุรกิจแบบยุค 1.0 โดยใช้แรงงานเป็นหลักร้อยละ 22.82 ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 23.40 ส่วนธุรกิจขนาดกลาง เหลือการทำธุรกิจแบบยุค 1.0 เพียงร้อยละ 2.38
         นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อถามถึงความสำคัญของเทคโนโลยี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สูงถึงร้อยละ 42.28 บอกว่า สำคัญมาก ส่วนที่บอกว่าไม่สำคัญเลยมีเพียงร้อยละ 3.28 บ่งบอกว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับธุรกิจ ส่วนการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วในปัจจุบัน อยู่ระดับปานกลางร้อยละ 50.73 ซึ่งเหตุผลที่ใช้เทคโนโลยี เช่น สะดวกและรวดเร็วร้อยละ 19.67 ควบคุมการผลิตได้ง่ายร้อยละ 18.41 และผลผลิตมีมาตรฐานร้อยละ 14.19 เป็นต้น ส่วนเหตุผลที่ไม่ใช่เทคโนโลยี เช่น ค่าใช้จ่ายสูงร้อยละ 30.49 ไม่มีความจำเป็นร้อยละ 25.46 และเห็นว่าใช้แรงงานคนอย่างเดียวนั้นดีอยู่แล้วร้อยละ 21.78 เป็นต้น 
         "สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ทำธุรกิจอยู่ตอนนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 73.12 บอกว่า ด้อยกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ  ดังนั้น ร้อยละ 71.92 จึงมีแผนจะลงทุนเทคโนโลยีใหม่เพิ่มในระยะเวลาเร็ว ๆ นี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิต  เพิ่มโอกาสการเจริญเติบโตของธุรกิจ  ช่วยให้ธุรกิจมีความทันสมัย ควบคุมการผลิตได้มาตรฐาน ช่วยขยายฐานลูกค้า และบริหารจัดการได้ดี เป็นต้น  ซึ่งแหล่งเงินทุนที่จะใช้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.61 บอกว่า ใช้วิธีกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์/รัฐบาล ญาติพี่น้อง เป็นต้น นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 47.35 บอกว่า เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อธุรกิจมาก"

         ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของกลุ่มตัวอย่างปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 53.82 ซึ่งส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 43.73 เชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีความสำคัญมาก
         สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อดำเนินธุรกิจ คือ 1.จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า 2.ให้ความรู้/จัดอบรม ข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ 3.ช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 4.ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิตและนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่วนปัญหาและอุปสรรคใหญ่ในการประกอบธุรกิจ ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานสูง  ระบบโลจิสติกส์ ขาดสภาพคล่อง และขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีและการเข้าถึงสินเชื่อ
         ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เผยว่า จากผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้ความสำคัญและสนใจที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งเครื่องจักร นวัตกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยยกระดับธุรกิจ เพราะเชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้อย่างสูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน ควบคุมการผลิตได้มาตรฐาน ช่วยขยายตลาดไปสู่สากล เป็นต้น