ประสาน อปท.ผุดถนนหมู่บ้าน 75,032 แห่ง-7,255 ตำบลทั่วไทย : ใช้งบ 2.4 หมื่นล้านบาท

 

     รุงเทพฯ 23 พ.ย.- นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่กรมบัญชีกลางได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง โดยให้หน่วยงานรัฐใช้สูตรคำนวนราคากลางงานดินซีเมนท์ผสมยางพารา เพื่อก่อสร้างทาง สะพาน ท่อเหลี่ยม และคำนวนราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน 

      ด้านชลประทาน อธิบดีกรมชลประทานได้รายงานถึง โครงการสร้างถนนคันคลองชลประทาน 53 จังหวัด ว่าแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ใช้ยางพาราผสมยางมะตอยและหินเกล็ด สูตรผสมยางพารา 2 ตันต่อกิโลเมตรต่อความกว้างถนน 6 เมตร เป็นผิวทาง 874 กิโลเมตร ใช้ยาง 1,750 ตัน งบประมาณ 3,128 ล้านบาท อีกประเภท ถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา ใช้ยางผสมลูกรังและปูนซีเมนต์ สูตรผสมยางพารา 15-18 ตันต่อกิโลเมตรต่อความกว้างถนน 6 เมตร เป็นผิวทาง 125 กิโลเมตร ใช้ยาง 1,759 ตัน งบประมาณ 420 ล้านบาท รวมใช้ยางพารา 3,509 ตัน ระยะทางรวม 999 กิโลเมตร งบประมาณ 3,548 ล้านบาท 

       อีกทั้ง โครงการก่อสร้างถนนและทำสระเก็บน้ำให้ชุมชนของกระทรวงกลาโหมที่แจ้งความจำนงต่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เมื่อมีราคากลาง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะทำให้หน่วยงานที่แจ้งความประสงค์ไว้กับ กยท.ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คาดว่าดูดซับยางออกจากตลาดเพิ่มอีก 170,000 ตัน จากที่หน่วยงานรัฐใช้เพียง 8,800 ตันเท่านั้น

       รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงโครงการทำถนนในหมู่บ้าน 75,032 หมู่บ้าน และ 7,255 ตำบลทั่วประเทศ โดยขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้จัดสรรงบประมาณทำถนนอย่างน้อยแห่งละ 1 กิโลเมตร ทั้งนี้ ราคาทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพาราเฉลี่ยกิโลเมตรละ 3 ล้านบาท เป็นค่ายางพาราประมาณกิโลเมตรละ 400,000 บาท งบประมาณรวม 24,000 ล้านบาท โดยให้รับซื้อยางจากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร ไม่ใช่จากบริษัทต่างๆ จะต้องใช้น้ำยางไม่น้อยกว่า 960,000 ตัน (1 ก.ม.ใช้น้ำยางสด 12 ตัน) ทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้ราคายางปรับสูงขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนับว่าคุ้มค่า เนื่องจากเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงสั่งการให้ กยท.จังหวัดเร่งทำความเข้าใจกับผู้บริหาร อปท.ให้ชัดเจนเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม