ชูโมเดล "ผ้ามัดหมี่ไทยพวน" กลุ่มพลังสตรีแห่งเมืองละโว้ (ชมคลิป)

         กิจกรรม "Inside Product By Thai Womenfund สัญจร" นำสื่อลงพื้นที่ "ลพบุรี" เกาะติดความคืบหน้าภารกิจส่งเสริมศักยภาพและบทบาทผู้หญิง สร้างความเท่าเทียมในสังคม ในช่วงระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย. 2561 โดยเยี่ยมชมโครงการตัวอย่าง "กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ไทยพวน" และ "กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า" ซึ่งได้กู้เงินกองทุนฯ มาสร้างงาน สร้างอาชีพ จนประสบความสำเร็จ มีทั้งเงินปันผลให้รายปีและรายได้เสริมช่วยเหลือสมาชิก

         กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ไทยพวน ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.หินปัก อ.บ้านหมี่ มี นางละม่อม พานทอง เป็นประธาน จากสมาชิกเริ่มแรก 5 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 60 คน ทางกลุ่มได้กู้เงินทุนหมุนเวียนจากกทองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 75,000 บาท แต่ได้ชำระคืนจนครบถ้วนแล้ว ขณะที่สมาชิกร่วมลงหุ้นๆ ละ 100 บาท มีเงินทุนหมุนเวียน 600,000 บาท มีการปันผลจากผลกำไรให้สมาชิกทุกปี 10% และสมาชิกยังมีรายได้เสริมเฉลี่ย 2,500 บาท/เดือน/คน โดยในปี 2561 ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในระดับจังหวัดอีกด้วย

         นางวนิดา รักพรม หรือ "ผู้ใหญ่น้อย" ประธานกลุ่มสตรีอาสาบ้านพวน กล่าวว่า ผ้ามัดหมี่ เป็นการสร้างลวดลายของผ้าแต่ละผืน ด้วยการใช้เชือกมัดเส้นด้ายสีขาวรวมเข้าด้วยกัน ถือเป็นวัฒนธรรมของชาวไทยพวนที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จุดเด่นคือเป็นงานทำมือที่มีลวดลายโบราณ สวยงาม ประณีต และทางกลุ่มยังได้คิดค้นลายใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เช่น ลายพระปรางค์สามยอด ลายลิง จนกลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของดีขึ้นชื่อของจังหวัดลพบุรี

         และนอกจากนี้ ยังมีการนำผ้ามัดหมี่ไปทำเป็นสินค้าแปรรูป ดังเช่น กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ทำกระเป๋า ที่ ต.บ้านทราย อ.บ้านหมี่ ที่มี นางคำไฝ จริงพูด เป็นประธานกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากนำเศษผ้ามัดหมี่มาทำกระเป๋าสตางค์ใบเล็กๆขาย พอมีคนสนใจมากขึ้น จึงรวมกลุ่มกัน 20 คน ทำกระเป๋าจำหน่ายในรูปแบบต่างๆตามการสั่งซื้อ กระทั่งปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 30 คน เมื่อปี 2560 ทางกลุ่มได้กู้เงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 200,000 บาท มาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับขยายการผลิต จากกระแสตอบรับของลูกค้าส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 - 4,000 บาท

         นายปรีชา กิตติสัตยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ไทยพวนประสบความสำเร็จ นอกจากจะมีการบริหารจัดการภายในที่ดีและความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน จ.ลพบุรี เช่น การสนับสนุนออกร้านขายสินค้า หรือแม้กระทั่งกรณีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมชุดไทยช่วงงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทำให้ผ้ามัดหมี่ขายดี เป็นต้น

         "ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงการใช้พลังประชารัฐมาสร้างความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนสังคม โดยในส่วนของ สกส. ก็ขอยืนยันจะเป็นส่วนหนึ่งของพลังประชารัฐ ในการทำงานส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาบทบาทของสตรีให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป"

         นายปรีชา กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.ลพบุรี ในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงิน 20,000,000 บาท มีการเบิกจ่ายเป็นเงิน 16,179,272 บาท โดยเป็นการลงทุนประกอบอาชีพที่หลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม หัตถกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือน และคหกรรม ซึ่งล้วนช่วยให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่เศรษฐกิจ รายได้ การยอมรับจากสังคม และสถาบันครอบครัวที่อยู่พร้อมหน้า ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่น