"อุตตม" พบชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ ยันมุ่งสู่เศรษฐกิจ Bio แบบยั่งยืน

         เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 61 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ โดยมี นายจุลพงษ์ ทวีศรี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และนายประเสริฐ สีน้ำเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วม และมี นายปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 พร้อมด้วย สมาชิกชาวไร่อ้อยเขต 11 ให้การต้อนรับ ณ หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 จังหวัดนครสวรรค์
         นายอุตตม กล่าวว่า ในวันนี้มีการหารือเรื่องยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สินค้าที่สร้างมูลค่าสูง พร้อมยกระดับระบบบริหารจัดการให้ก้าวไปอีกขั้น โดยยึดหลักการ ความยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ( Bio economy)แบบครบวงจร ทั้งยังคำนึงถึงตลาด สินค้า และกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็มองกลับมาที่ต้นทาง คือ การพัฒนาเรื่องการเกษตร การปลูกอ้อย การดูแลพันธุ์อ้อย เพื่อให้มั่นใจว่าจะจัดสรรประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรมกับทุกส่วน และไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด
         "ที่ผ่านมาได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยจะไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่นในภาคตะวันออกมีอยู่แล้วเพราะมีฐานจาก ปตท. แต่น่าจะมีพื้นที่อื่นอีกอย่าง จ.ขอนแก่น และ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย วันนี้จึงมาร่วมกันตั้งโจทย์ว่า การเอาเรื่องเข้าสู่ ครม.นั้นเป็นเฟสแรก ส่วนเฟสต่อไปคือจะทำอย่างไรให้จ.นครสวรรค์ และพื้นที่อื่นๆ เข้าสู่เป้าหมายที่เราร่วมกันวางว่าจะเป็น  Bio hub Bio economy ซึ่งคำว่า "hub" เกิดจากอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าแค่เอาเทคโนโลยีมาผลิต แต่หมายถึงศูนย์กลางของการผลิตอ้อยและน้ำตาลที่จะก้าวพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ" นายอุตตม กล่าว

         ด้านตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งใน จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี ได้กล่าวในที่ประชุมถึงปัญหาที่ยังรอการแก้ไข ประกอบด้วย 1.เรื่องบรรทุกขนอ้อย ที่จำกัดความสูงก็ขอให้ขนได้สูง 4  เมตร โดยจะพิจารณาลดความสูงครั้งละ 10 เซนติเมตรก็ขอให้ชะลอไปก่อน และ 2.เรื่องรถเทรลเลอร์ หรือรถลากที่ชาวบ้านกษตรกรต้องใช้ลากอ้อยจากพื้นที่ ขอให้ยังใช้ได้ต่อไปเพราะชาวบ้านมี ฐานะยากจน การขนส่งรูปแบบอื่นจะลำบาก และที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ. ศ. .... ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
         โดย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่าได้มีการดูแลเกษตรกรในเรื่องต่างๆมาตลอด ส่วนร่างกฎหมายจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพ และจะให้คำมั่นว่าจะไม่ออกกฎหมายที่เอาเปรียบเกษตรกรได้หรือไม่นั้น ตนยืนยันว่า จะดูแลไปตามทิศทางที่มีอยู่ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกฤษฎีกา ในฐานะรัฐมนตรีนั้นต้องดูแลไปตามระบบ ขออย่างได้เป็นห่วง

         นอกจากนี้ นายอุตตม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (กลุ่ม KTIS)โดยมี นางดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ กรรมการและรองประธานกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ โดยบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่าย เยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเยื่อชานอ้อยทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้กลุ่มบริษัท KTIS ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์ฯดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำชานอ้อย ที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลทรายจากบริษัทในเครือ KTIS ซึ่งถือเป็นโครงการ Bio Complex เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่สำคัญ เพราะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ
         และยังมีโครงการผลิตเอทานอล จากการหีบอ้อยจำนวน 2.4 ล้านตันต่อปี ด้วยการนำน้ำอ้อยที่เหลือมาทำให้เข้มข้น โดยจะมีโรงงานเอทานอลกำลังผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน เพื่อสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆได้ ในส่วนของชานอ้อยที่เหลือจากการหีบอ้อยนั้น ยังสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าสำหรับใช้ในโครงการและขายในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย