ก.วิทยาศาสตร์ฯ เดินหน้า "ลานนา 4.0" (ชมคลิป)

         เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ลงพื้นที่ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) พื้นที่การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเปิดโครงการ "ลานนา 4.0 พลิกโฉมเมืองเหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) โดยบรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ทีมีผลงานเด่นๆ มาโชว์ อาทิ BeNeat Academy จากธุรกิจ Startup ที่ให้บริการ Platform แม่บ้านออนไลน์ บริษัท บีนีท จำกัด ก่อนมีการขยายธุรกิจโดยการจัดตั้ง BeNeat Academy สถาบันที่ให้ความรู้ในการเป็นแม่บ้านมืออาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนทุกระดับภายใต้ Platform แม่บ้านออนไลน์ บนแนวคิด Sharing Economy โดยแม่บ้านสามารถเป็นใครก็ตามที่ผ่านการฝึกอบรม รวมถึงผู้ด้อยโอกาสในประกอบอาชีพ
         "GANFAI" หรือ Green and Fire Retardant Acoustic Insulation แผ่นฉนวนผลิตจากวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรและเยื่อกระดาษ ของ หจก.เจริญไตรภพ อันเกิดจากความต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือทิ้ง (ฟางข้าว) และต้องการสร้างวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งาน แผ่นฉนวนกันไฟดังกล่าวมีคุณสมบัติลดอุณหภูมิ ไม่ลามไฟ ซับเสียงได้ถึง 75% อีกทั้งยังสามารถตกแต่งลวดลายสวยงามได้ตามต้องการของผู้ใช้งาน

         "บริษัท ฟีดแบค 180 จำกัด" บริษัทนวัตกรรมด้าน AI ที่คิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านการนำงานวิจัยด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Machine Learning และ Artificial Intelligence) ร่วมกับ Image processing ทำให้ได้ระบบที่ชาญฉลาด ซึ่งสามารถประเมินอารมณ์ ความรู้สึกของลูกค้า ทั้งในรูปแบบข้อความภาษาไทย (Thai Text Analytics) รูปภาพ หรือวีดีทัศน์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจในการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าแบบ Real-Timeเพื่อให้เกิดการบริการเชิงพาณิชย์ที่เป็นเลิศ ด้วยการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในปัจจุบัน
         "PAW System (Plastech Corporation Limited)" จากนักศึกษาที่ร่วมประกวดงาน R2M (Research to Market) ภายใต้โปรแกรมการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) จึงมีแนวคิดและแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เมื่อนายนรพนธ์ วิเชียรสาร (CEO ของ Plastech Corporation Limited) เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกได้มีโอกาสทำวิจัยภายใต้โครงการความร่วมมือการวิจัยระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทย (TKRCC: Thai-Korea Research Collaboration Center) จึงเริ่มต้นทำเครื่องต้นแบบ PAW (Plasma Activated Water) System เครื่องมือสำหรับล้างสารตกค้างบนผักและผลไม้ด้วยน้ำพลาสมา (Plasma water) ซึ่งสามารถลดสารตกค้างบนพื้นผิวของผักและผลไม้ได้ถึง 70-90% ต่ำกว่า 0.3 ppm ตามมาตรฐาน Codex Alimentarius Compact Cool Air Plasma Jet ผลงานจากบริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด (InnoPlasCM Co.,Ltd.) ที่ดำเนินกิจการหลัก

         อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลาสมา การนำเข้าและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลาสมา การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสมา ผลิตภัณฑ์ "Compact Cool Air Plasma Jet" มีหลักการสร้างพลาสมาโดยการดูดอากาศมาผ่านไฟฟ้าทำให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคกลายเป็นพลาสมา มีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นเครื่องพลาสมาอากาศบำบัดแผลติดเชื้อ สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ในการรักษาแผล ใช้กำลังไฟฟ้าของระบบพลาสมาอากาศไม่เกิน 2-3 วัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ปลอดภัยต่อการประยุกต์ต่อเนื้อเยื่อแผล มีศักยภาพในการกำจัดแบคทีเรียและกระตุ้นเซลล์ผิวหนังชั้นนอก และมีประสิทธิภาพในการทาลายเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะและไม่ทำร้ายเนื้อเยื่อดี ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ โดยใช้ง่าย ปลอดภัย ราคาถูกและเป็นนวัตกรรมจากองค์ความรู้ของนักวิจัยไทย

         บริษัท โนเว็ม อินโนเวชั่น จำกัด จากงานวิจัย "เทคโนโลยีรากฟันเทียมนวัตกรรมใหม่" โดยมี รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน อาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ประดิษฐ์ ซึ่งถูกพัฒนาจนมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะออกสู่เชิงพาณิชย์ อีกทั้งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ปี 2558 (ดำเนินการโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (มหาชน)) โดยนักวิจัยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีฯ

         ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือได้สร้างผลลัพธ์/ผลกระทบแก่ภูมิภาค อาทิ มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น มีจำนวนธุรกิจเกิดใหม่ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ที่สำคัญผู้ประกอบการในภูมิภาคได้รู้จักและเห็นประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนา โดยเห็นได้จากการลงทุนที่เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนโดยภูมิภาคมีความสำคัญยิ่ง ดังนั้นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนของรัฐบาลเพื่อตอบโจทย์การเป็นไทยแลนด์  4.0  คือการส่งเสริมการลงทุนและเกิดการสร้างนวัตกรรมผ่านทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศตามจุดแข็งและโอกาสในพื้นที่นั้น ๆ

         สำหรับภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ มีผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพรที่มีสารสำคัญสูงที่หลากหลาย มีความโดดเด่นในการผลิตอาหารแปรรูป มีภูมิอากาศที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย มีวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ รวมถึงเข้าถึงได้ง่ายด้วยการคมนาคมหลากหลายรูปแบบ และจุดที่น่าสังเกตคือมีคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์การทำงานในกรุงเทพและปริมณฑลต้องการย้ายกลับมาทำงานในบ้านเกิด จึงนับว่าเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็งของคนรุ่นใหม่

         รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้สนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ การยกระดับอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ให้มีการดำเนินงานประยุกต์ใช้นวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำของทั้งกระบวนการผลิตอาหาร  การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนผ่านการนำร่องโดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ร่วมกับการวางผังเมืองที่ชาญฉลาดเป็นการสร้างเมืองที่จะมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เป็นต้น