สศก. หนุนยกระดับผลไม้อินทรีย์ รับกระแสคนรักสุขภาพ

         นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาสถานการณ์ด้านการผลิตสินค้าผลไม้อินทรีย์ของไทย พบว่า ผลผลิตผลไม้ส่วนใหญ่ (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ร้อยละ 92 ส่วนร้อยละ 8 ผลผลิตยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนภายใต้การรับรองมาตรฐานอินทรีย์ Organic Thailand
         ด้านตลาดสินค้าผลไม้อินทรีย์ ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 22 เกษตรกรจะส่งไปจำหน่ายที่ตลาดระบบสมาชิก อาทิ วิสาหกิจชุมชน ร้อยละ 21 จำหน่ายที่ตลาดส่งออก ร้อยละ 20 จำหน่ายที่ตลาดค้าส่งในพื้นที่ ส่วนที่เหลือจำหน่ายที่ ตลาด Modern Trade ตลาดนัด (ตลาดประชารัฐ/ตลาดเกษตรกร และตลาดสีเขียว) ตลาดเฉพาะ (ร้าน Lemon Farm ตลาดในโรงพยาบาล และงานแสดงสินค้า) ตลาดออนไลน์ และตลาดอื่น ๆ (ตลาดนักท่องเที่ยว โรงงานแปรรูป และขายปลีกที่สวนตนเอง) ตามลำดับ ทั้งนี้ การขายสินค้าส่วนใหญ่เกษตรกรจะจำหน่ายสินค้าด้วยตนเอง และได้รับเงินทันทีหลังจำหน่ายผลผลิต ส่วนการจำหน่ายให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชุน และพ่อค้าผู้รวบรวม เกษตรกรจะได้รับเงินหลังจำหน่ายสินค้า 3-7 วัน
         อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน หากเปรียบเทียบแล้ว สินค้าผลไม้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มชนิดสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น สินค้าข้าวอินทรีย์ และผักอินทรีย์ โดยปัจจุบันปริมาณผลผลิตสินค้าผลไม้อินทรีย์ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดซึ่งมีโอกาสขยายตัวสูง เนื่องจากการตื่นตัวเรื่องกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลก ส่งผลให้ผลไม้อินทรีย์ได้รับการยอมรับและมีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอีกด้วย

         สำหรับแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดสำหรับสินค้าผลไม้อินทรีย์ ควรส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มตลาด โดยขยายการผลิตในพื้นที่เหมาะสม ส่งเสริมการตลาดแนวใหม่ จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในทุกจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจผลไม้อินทรีย์ เชื่อมโยงแหล่งจำหน่ายผลไม้อินทรีย์กับเส้นทางท่องเที่ยว สนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) หรือที่รู้จักในเครื่องหมาย Organic Thailand และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS)
         "ควรส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้อินทรีย์รุ่นใหม่ เน้นทำธุรกิจแปรรูป สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและกระตุ้นความต้องการสินค้าผลไม้อินทรีย์ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบผลิตอินทรีย์ ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าผลไม้อินทรีย์ เพื่อช่วยยืดอายุและเพิ่มมูลค่าของสินค้า" นายฉันทานนท์ กล่าว