โรคด่างมันสำปะหลังระบาดไทย! : สั่งเฝ้าระวังเข้ม 51 จังหวัด : จี้เกษตร-สหกรณ์ของบช่วยชาวไร่

 

     รุงเทพฯ 24 ต.ค.– นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งตรวจสอบปัญหาการระบาดของโรคด่างมันสำปะหลังซึ่งเริ่มเข้ามาไทย โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรกำหนดแนวทางเฝ้าระวังและป้องกันหลังจากระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย อีกทั้ง ใช้มาตรการฉุกเฉิน เมื่อสำรวจพบต้นมันฯ ต้องสงสัยแสดงอาการของโรคด่างในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และสุรินทร์ 68 ไร่ จึงสั่งทำลายด้วยวิธีการฝังกลบทั้งแปลง เนื่องจากโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่รุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียหายร้อยละ 80-100  

      ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรรายงานว่าโรคด่างของมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัสมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ เมื่อต้นมันสำปะหลังติดเชื้อจะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ยอดที่แตกใหม่จะด่างเหลือง และลำต้นแคระแกร็น หากควบคุมการระบาดไม่ได้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนติดตาม สำรวจ และเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เสี่ยงต่อการระบาด รวมทั้งมีมาตรการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้กระทบเกิดความเสียหายกับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ

      นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตร เเละกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยขอให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.ก.พ.) ประสานกับผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ตั้งเป็นชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ให้ครอบคลุมพื้นที่แพร่ระบาดและพื้นที่เขตป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ประกาศพื้นที่ระบาดพืช ซึ่งต้องทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรคยกแปลง เป็นเขตภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 เพื่อจะได้สนับสนุนเงินชดเชยให้แก่เกษตรกร ทั้งให้เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรเข้าใจถึงวิธีการแก้ปัญหา รายงานหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยงานในพื้นที่ทันทีที่พบความผิดปกติของต้นมันสำปะหลัง เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด