ออก 3 มาตรการรองรับข้าวปี 61/62 : ข้าวหอมพุ่ง 14,750-17,700 บาท/ตัน : ส่งออกทะลุ 11 ล้านตัน

 

      ทำเนียบรัฐบาล - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มุ่งส่งเสริมเกษตกรและสถาบันเกษตรกร ผู้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว ยื่นขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. สำหรับการสร้างยุ้งฉาง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อให้ชาวนามียุ้งฉางรองรับการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรอุดหนุนสร้างยุ้งฉางไปแล้ว 2,330 ราย และยังรับทราบว่าโรงสีซื้อขายข้าวเปลือกนาปรัง เฉลี่ยเดือนกันยายน 7,500-7,900 บาทต่อตัน จากการตรวจสอบสภาพคล่องของโรงสี รัฐบาลยืนยันว่า โรงสีข้าวในประเทศมีเพียงพอรับซื้อข้าวจากชาวนา หลังจาก ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ด้วยอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน จากกระแสข่าวว่ามีโรงสีประสบปัญหาขาดทุนจึงรับซื้อข้าวจากชาวนาไม่ได้ในบางพื้นที่

      นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม นบข. มั่นใจว่า การส่งออกข้าวปี 61 จะทำได้มากกว่า 10 ล้านตัน เพราะราคาข้าวตลาดโลกปรับสูงขึ้น คาดการณ์ปริมาณข้าวในตลาดโลกประมาณ  487.76 ล้านตันลดลง 3.76 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคทั่วโลกประมาณ  488.47 ล้านตัน เนื่องจาก ฟิลิปปินส์ต้องการสั่งซื้อข้าวเพิ่มเติม เพราะได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นมังคุด และอินโดนีเซีย มีปัญหาภัยธรรมชาติ โดยการส่งออกข้าวช่วงเดือนมกราคม-2 ตุลาคม อินเดียส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก 9.21 ล้านตัน ไทย อันดับ 2 ส่งออก 7.71 ล้านตัน เวียดนาม 5.13 ล้านตัน 

      ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสมาคมโรงสีข้าว ผู้แทนเกษตรกร ชาวนาหลายพื้นที่ พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิสำคัญเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ขณะนี้มีข้าวเปลือกหอมมะลิต้นฤดูออกสู่ตลาด ราคาที่ชาวนาขายได้สูงขึ้นเป็นลำดับจนอยู่ในระดับกว่าตันละ 15,000 บาท และยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสูงกว่าเป้าหมาย ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายสูงขึ้น 

      ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิความชื้น 15 % ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เป็นตันละ 14,750 -17,700 บาท ขณะที่ปีที่ผ่านมาตันละ 11,550-14,500 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ความชื้น 15% ตันละ 9,000-10,800 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,200-12,000 บาท ข้าวเจ้า 5% ความชื้น 15% ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7,500-7,900 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,300-7,800 บาท และยังมีกำหนดการส่งมอบข้าวที่ตกลงขายให้จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อีกกว่า 9 แสนตัน ช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม จึงมั่นใจว่าปี 2561 การส่งออกข้าวของไทยจะสูงกว่า 11 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน

     สำหรับ มาตรการที่จะนำมาใช้รองรับข้าวในฤดูกาลผลิต 2561/2562 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด รัฐบาลได้เตรียมการรองรับไว้ 3 มาตรการหลักสำคัญ คือ 1) ชะลอจำหน่ายข้าวเปลือกนาปี เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเก็บสตอกโดยรัฐบาลจ่ายค่าฝากเก็บให้เกษตรกรที่เก็บข้าวในยุ้งฉางของตนเอง ตันละ 1,500 บาท หากฝากเก็บในยุ้งฉางของสหกรณ์หรือกลุ่มวิสาหกิจ ได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท ทั้งช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เป็นอัตราการจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนละ 6,000 บาท ในปีที่ผ่านมา 2) ส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้เก็บสตอกข้าวแทนสมาชิกโดยรัฐสนับสนุนทุนจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี และ 3) จูงใจให้โรงสีดูดซับผลผลิตข้าวช่วงต้นฤดูซึ่งผลผลิตออกมาก โดยช่วยเหลือค่าดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ใช้จัดเก็บร้อยละ 3 ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน 

      นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับจังหวัดแหล่งผลิตประสานให้มีการพบปะเจรจาซื้อขาย ระหว่างกลุ่มชาวนากับผู้ซื้อ ซึ่งมีทั้งลานข้าว โรงสี ผู้ส่งออก กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ชาวนามั่นใจว่ามีช่องทางจำหน่ายที่แน่นอน ได้ราคาที่น่าพอใจ ทั้งเที่ยงตรงเรื่องการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น สิ่งเจือปน และเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว