เตือนเกษตรกรปลูก "เงาะ มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน" ป้องกันโรคระบาด

         กรมวิชาการเกษตร โดยคณะทํางานพยากรณ์และเตือนภัยศัตรูพืช แจ้งเตือนภัยการเกษตรระหว่างวันที่ 24-30 ต.ค. 2561 ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงที่ เงาะ อยู่ในระยะเตรียมความพร้อมในการออกดอก/แตกใบอ่อน จึงควรระวัง หนอนคืบกินใบ และหนอนร่านกินใบ
         ทั้งนี้ หนอนคืบกินใบ มีความสำคัญในระยะที่เงาะแตกใบอ่อน จะทำลายและทำให้เกิดความเสียหายมาก หนอนจะกัดกินใบเพสลาด รวมทั้งใบแก่ ทำให้การปรุงอาหารของใบไม่เพียงพอ ซึ่งแนวทางป้อกัน ถ้าโคนต้นเงาะโล่งเตียนไม่มีหญ้ารก ให้เขย่ากิ่งเงาะ ตัวหนอนทิ้งตัวลงที่พื้นแล้วจับไปทำลาย หากพบหนอนในระยะที่เงาะแตกใบอ่อน ควรพ่นสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
         ส่วน หนอนร่านกินใบ ระบาดทำความเสียหายกับเงาะไม่มากนัก นอกจากมีระบาดเป็นบางปีเท่านั้น เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะแทะกินแต่ผิวใบ ทำให้ใบแห้งและร่วงหล่น หนอนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อโตขึ้นจะแยกกระจายไปตามใบต่างๆ หนอนจะทำลายโดยการกัดกินใบแก่ แต่ถ้าหากระบาดในระยะที่เงาะกำลังออกดอกความเสียหายจะมีมาก เพราะต้นเงาะที่ถูกทำลายจะติดผลขนาดเล็กและด้อยคุณภาพ ซึ่งแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น ในระยะที่หนอนยังเล็กจะอยู่รวมกัน และกัดแทะผิวใบทำให้ใบเงาะแห้ง เมื่อพบเงาะใบแห้งหรือมีรอยทำลายให้ตรวจดูแล้วนำใบเงาะนั้นไปทำลาย แต่ถ้าหนอนระบาดมาก ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร



         ภาคเหนือ อากาศเย็นและชื้น มีน้ำค้างและฝนเกษตรกรจะเริ่มปลูก มันฝรั่ง เตือนให้ระวัง โรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans)มักพบอาการของโรคที่ใบล่างก่อน โดยด้านบนใบ พบจุดแผลฉ่ำน้ำสีเขียวหม่นคล้ายถูกน้ำร้อนลวก เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบบริเวณตรงกันจะมองเห็นเป็นละอองน้ำเล็กๆ สีขาวใสติดอยู่ โดยเฉพาะบริเวณขอบแผลต่อมาแผลจะขยายใหญ่ ขอบแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำสีดำและลุกลามออกไป ทำให้ใบไหม้แห้งเป็นสีน้ำตาลในที่สุด หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม โรคจะลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังต้นอื่นๆ ทำให้มองเห็นใบไหม้แห้งกระจายเป็นหย่อมๆ ในแปลง นอกจากนี้อาจพบอาการโรคที่ส่วนของลำต้น ทำให้ลำต้นหรือกิ่งแห้งตายอย่างรวดเร็ว หากโรคเข้าทำลายที่หัวจะทำให้หัวเน่า
         แนวทางป้องกันและแก้ไข มีดังนี้
         1) หลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
         2) ไถพรวนดินและใส่ปูนขาว ตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก
         3) ใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ
         4) ปรับระยะปลูกไม่ให้แน่นเกินไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
         5) อย่าให้น้ำมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น
         6) หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการโรค ควรถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
         7) เมื่อพบโรคเริ่มระบาดควรพ่นด้วยสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซมอกซานิล + แมนโคแซบ 8% + 64% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรวาลิคาร์บ + โพรพิเนบ 5.5% + 61.3% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน
ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค
         8) ไม่นำเครื่องมือที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
         9) แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

 

          ส่วนพืชไร่อากาศเย็น มีหมอกตอนเช้า อากาศร้อนตอนกลางวัน ถั่วเหลือง ในระยะติดฝักเจริญเต็มที่ และเริ่มสะสมน้ำหนัก เตือนให้ระวัง หนอนเจาะฝักถั่ว และมวนถั่วเหลือง
         ทั้งนี้ หนอนเจาะฝักถั่ว จะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดที่อยู่ในฝักหลังจากฟักออกมาจากไข่ หนอนที่มีขนาดใหญ่สามารถย้ายไปกัดกินฝักอื่นๆ ได้โดยชักใยดึงฝักมาติดกันแล้วเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดที่อยู่ภายในฝักใหม่ การเข้าทำลายของหนอนเจาะฝักถั่วทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองลดลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ให้แก้ไขโดย พ่นสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน
         หากเป็น มวนถั่วเหลือง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ลำต้น ดอก และฝักของถั่วเหลือง ฝักอ่อนที่ถูกทำลายจะลีบ และร่วงหล่นทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ พ่นสารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด
70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบตัวเต็มวัยของมวนถั่วเหลือง 2-3 ตัวต่อแถวถั่วยาว 1 เมตร



         สำหรับพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น และมีฝนตกในช่วงนี้ เกษตรกรผู้ปลูก ปาล์มน้ำมัน อายุมากกว่า 4 ปี ให้ระวัง หนอนหน้าแมว โดยจะกัดทำลายใบปาล์มน้ำมัน ถ้าระบาดรุนแรง ใบจะถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ต้นชะงักการเจริญเติบโต และใช้เวลานานกว่าที่ต้นจะฟื้นตัว ถ้าเกิดการระบาดในแต่ละครั้งจะใช้เวลาในการกำจัดนาน เนื่องจากหนอนหน้าแมว มีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น ระยะหนอน และระยะดักแด้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดให้หมดในเวลาเดียวกัน ซึ่งแนวทางป้องกันและแก้ไข มีดังนี้
         1) ตัดทางใบปาล์มน้ำมันที่มีหนอน หรือจับผีเสื้อซึ่งเกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบ หรือเก็บดักแด้ตามซอกโคนทางใบรอบต้น มาทำลาย
         2) เมื่อพบหนอนทำลายเฉลี่ย 20 ตัวต่อทางใบ ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% ดับเบิลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นเมื่อพบหนอนเข้าทำลายบริเวณผิวใบ (หนอนวัย 1-4) จะได้ผลดียิ่งขึ้น