"มะขาม" ไม้ใกล้ตัว หลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงินได้!

 

      ไม้สกุล"มะขาม"คือ 1 ใน 3 ไม้ในโหมดไม้ผล ร่วมกับ มะม่วง ทุเรียน ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ของพรรณไม้รวมทั้งหมด 58 ชนิด ที่ผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2561 ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ เพราะจัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสรรพคุณในโหมดของสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ทั้งอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย 

      เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีฟแอฟริกา และนำเข้ามาปลูกในแถบเอเชีย รวมทั้งบ้านเราที่นับว่าเป็นไม้ผลโบราณใกล้ตัว เช่นเดียวกับมะม่วง ทั้งเป็นต้นไม้ประจำ จ.เพชรบูรณ์ ในตำราพรหมชาติถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลที่ช่วยป้องกันสิ่งเลวร้ายไม่ให้มากล้ำกราย ทำให้คนเกรงขาม มีชื่อสามัญ Tamarind จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นฯ อาซัม (มลายู),หมากขาม (ลาว),อะมะลิกา (อินเดีย),ซวนโต้ว (จีน)

      ประโยชน์ : อาหาร : ใช้ทำอาหารได้หลายส่วน ทั้งใบอ่อน ฝักอ่อน ฝักแก่ และเมล็ดก็นำมาคั่วรับประทานได้ อย่างมะขามเปียกที่ทำจากมะขามฝักแก่เป็นเครื่องปรุงรสเปรี้ยวที่สำคัญในอาหารไทย ทั้งแกงส้ม ต้มส้ม ไข่ลูกเขย น้ำปลาหวาน ส่วนยอดและใบอ่อนนำไปยำหรือใส่ในต้มเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว อีกทั้ง นำมาแปรรูปทำขนมได้หลายเมนู เช่น มะขามแช่อิ่ม มะขามแก้ว มะขามคลุก มะขามกวน เป็นต้น

      ประโยชน์ : สมุนไพร

       - แก้ท้องผูกถ่ายไม่ออก ใช้เนื้อฝักแก่ หรือมะขามเปียก กินจิ้มกับเกลือ หรือคั้นน้ำดื่ม (10-30 ฝัก) ใส่เกลือเล็กน้อย

       - แก้ท้องเดิน ใช้เปลือกต้น ทั้งสดหรือแห้ง 1–2 กำมือ (15–30 กรัม) ต้มกับน้ำปูนใสดื่มช่วยให้อาการทุเลาลงได้

       - ถ่ายพยาธิลำไส้ ใช้เมล็ดคั่วกะเทาะเปลือกเอาออกเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือจนเนื้อเริ่มอ่อนนำมากินครั้งละ 20–30 เมล็ด เหมาะสำหรับถ่ายพยาธิไส้เดือน

      - แก้ไอขับเสมหะเสลดติดคอ ใช้เนื้อในฝักแก่ หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือกิน

      ประโยชน์ด้านอื่นๆ

       - มะขามเปียกอุดมด้วยกรดอินทรีย์ อาทิ กรดซิตริก (Citric Acid) กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) กรดมาลิก (Malic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติชำระล้างความสกปรกรูขุมขน คราบไขมันบนผิวหนังได้ดี

       - เนื้อไม้มะขามใช้ทำเขียง ครก สาก กระดุมเกวียน หรือเผาถ่าน

      ทั้งนี้ พันธุ์มะขาม สามารถจำแนกได้เป็นหมวดมะขามหวาน และหมวดมะขามเปรี้ยว 

      1.มะขามหวาน ที่พบเห็นและปรากฎอยู่ทุกวันนี้มีอยู่กว่า 20 สายพันธุ์ (ตั้งชื่อพันธุ์ตามสถานที่ หรือชื่อผู้ค้นพบ) อาทิ พันธุ์หมื่นจง ,สีทอง ,ศรีชมพู ,น้ำผึ้ง, น้ำดุกหรือปากดุก,ขันตี ,อินทผาลัม ,แจ้ห่ม ,เจ้าห่ม ,มหาจรูญ ,ครูอินทร์ ,ไผ่ใหญ่ ,พระโรจน์ ,ครูบัวพันธุ์ ,ส้มป่อย,นิ่มนวล ,นาศรีนวล ,นวลละออง ,นากว้าง, กงสะเด็น, หลังแตก และพันธุ์เจ้าเนื้อเศรษฐกิจ เป็นต้น

      2.มะขามเปรี้ยว ยังไม่มีการจำแนกพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์มะขามเปรี้ยว ตั้งแต่ปี 2526 โดยได้ตั้งหลักเกณฑ์การคัดเลือกพันธุ์มะขามเปรี้ยวไว้ดังนี้

       - ลักษณะทรงพุ่ม กระทัดรัด ทรงพุ่มโปร่งเป็นทรงกระบอกหรือครึ่งวงกลม

       - ฝักใหญ่ ตรง ความยาวไม่น้อยกว่า 10 ซม.เปลือกหนา และฝักไม่แตก

       - เนื้อมาก มีเนื้อ 50-55 เปอร์เซ็นต์ มีเมล็ด 33.9 เปอร์เซ็นต์ เปลือกกับรก (Placenta) มี 11.1 เปอร์เซ็นต์ เนื้อมีสีอำพัน

       - มีเปอร์เซ็นต์กรดทาร์ทาริค (Tartaric acid) สูงประมาณ 13.65-20 เปอร์เซ็นต์

       - การเจริญเติบโตดี ติดฝักสม่ำเสมอ

       โดยผลการศึกษาเมื่อมะขามเปรี้ยวอายุ 5 ปี ให้ผลผลิตเป็นปีที่ 3 พบว่าต้นแม่พันธุ์ ศก.019 ให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ย 18.74 กิโลกรัม/ต้น รองลงมาคือแม่พันธุ์ ศก.018, ศก.02 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 12.91 และ 11.64 กิโลกรัม/ต้น ตามลำดับ 

       อ้างอิง - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี.กทม.,เว็บไซต์สรรพคุณสมุนไพร (www.rspg.or.th),ประโยชน์มะขาม.com,https://sites.google.com