บริการวิเคราะห์ตัวอย่างดินฟรี! : ดินมีปัญหา พัฒนาที่ดินจัดให้

 

    กรมพัฒนาที่ดิน บริการวิเคราะห์ตัวอย่างดินให้กับเกษตรกรที่พื้นที่ดินมีปัญหา เพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาของดินในแปลงปลูกพืชนั้นๆ พร้อมคำแนะนำแก้ไขปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การใช้ปุ๋ย การใช้ปูน ปรับปรุงดินกรด การใช้วัสดุ หรือสารปรับปรุงดินอย่างอื่น ตามความจำเป็นเพื่อให้การปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น โดยมีหลักเกณ์ วิธีการ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

การเก็บตัวอย่างดินที่ถูกต้อง

      ตัวอย่างดินที่เก็บมาต้องเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของที่ดินแปลงนั้น ถ้าเก็บตัวอย่างดินไม่ถูกต้อง ผลการวิเคราะห์ก็จะไม่ตรงกับสมบัติของดิน คำแนะนำการใช้ปุ๋ยและการจัดการดินจะผิดพลาดทั้งหมด หลักสำคัญของการเก็บตัวอย่างดินมีดังต่อไปนี้

      1.ควรเก็บหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว หรือก่อนเตรียมดินปลูกพืชครั้งต่อไป คำแนะนำจากผลการวิเคราะห์ดินหลายอย่างจะต้องนำมาใช้ให้ทันในการเตรียมดินปลูกพืช เช่น การใส่ปูน การไถกลบอินทรียวัตถุ การใส่ปุ๋ยรองพื้น เป็นต้น 

      2.พื้นที่ที่จะเก็บตัวอย่างดินไม่ควรเปียกแฉะหรือมีน้ำท่วมขังจะทำให้เข้าไปทำงานลำบาก แต่ถ้าแห้งเกินไปดินจะแข็ง ดินควรมีความชื้นเล็กน้อยจะทำให้ขุดและเก็บได้ง่ายขึ้น

      3.ไม่เก็บตัวอย่างดินบริเวณที่เคยเป็นบ้าน หรือโรงเรือนเก่า จอมปลวก เก็บให้ห่างไกลจากบ้านเรือน อาคารที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ และบริเวณจุดที่มีปุ๋ยตกค้างอยู่

      4.อุปกรณ์ที่เก็บตัวอย่างดินต้องสะอาด ไม่เปื้อนดิน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช สารเคมีอื่นๆ

      5.ต้องบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอย่างดินของแต่ละตัวอย่างตามแบบฟอร์ม "บันทึกรายละเอียดตัวอย่างดิน"ให้มากที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการให้คำแนะนำการจัดการดินให้ถูกต้องที่สุด

วิธีเก็บตัวอย่างดิน

      1.เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นได้แก่ เครื่องมือสำหรับขุดหรือเจาะเก็บดิน เช่น พลั่ว จอบ และเสียม ส่วนภาชนะที่ใส่ดิน เช่น ถังพลาสติก กล่องกระดาษแข็ง กระบุง ผ้ายางหรือผ้าพลาสติก และถุงพลาสติกสำหรับใส่ตัวอย่างดินส่งไปวิเคราะห์

      2.ขนาดของแปลงที่จะเก็บตัวอย่างดินไม่จำกัดขนาดแน่นอนขึ้นอยู่กับความแตกต่างของพื้นที่ (ที่ราบ ที่ลุ่ม ที่ดินที่ลาดชัน เนื้อดิน สีดิน) ชนิดพืชที่ปลูกและ การใช้ปุ๋ย หรือการใช้ปูน ที่ผ่านมา แปลงปลูกพืชที่มีความแตกต่างดังกล่าว จะต้องแบ่งพื้นที่เป็นแปลงย่อย เก็บตัวอย่างแยกกันเป็นแปลงละตัวอย่าง พื้นที่ราบ เช่น นาข้าวขนาดไม่ควร เกิน 50 ไร่ พื้นที่ลาดชันขนาดแปลงละ 10-20 ไร่ พืชผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ที่ปลูก

      3.ลุ่มเก็บตัวอย่างดิน กระจายให้ครอบคลุมทั่วแต่ละแปลงๆละ 15-20 จุด ก่อนขุดดินต้องถางหญ้า กวาดเศษพืช หรือวัสดุที่อยู่ผิวหน้าดินออก (อย่าแซะหรือปาดหน้าดินออก) แล้วใช้จอบ เสียม พลั่ว ขุดหลุมเป็นรูป V ให้ลึกแนวดิ่งราว 15 ซม. หรือในระดับชั้นไถพรวน (สำหรับพืชทุกชนิด ยกเว้นสนามหญ้าเก็บจากผิวดินลึก 5 ซม.และไม้ยืนต้นเก็บจากผิวดินลึก 30 ซม.) แล้วแซะเอาดินด้านหนึ่ง เป็นแผ่นหนา 2-3 ซม.จากปากหลุมถึงก้นหลุม ดินที่ได้นี้เป็นดินจาก 1 จุด ทำเช่นเดียวกันนี้จนครบ นำดินทุกจุดใส่รวมกันในถังพลาสติก หรือภาชนะที่เตรียมไว้

      4.ดินที่เก็บมารวมกันในถังนี้ ถือว่าเป็นตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของที่ดินแปลงนั้น เนื่องจากดินมีความชื้นจึงต้องทำให้แห้ง โดยเทดินในแต่ละถังลงบนแผ่นผ้าพลาสติก หรือผ้ายางแยกกัน ถังละแผ่นเกลี่ยดินผึ่งไว้ในที่ร่มจนแห้ง ดินที่เป็นก้อนให้ใช้ไม้ทุบให้ละเอียดพอประมาณ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันจนทั่ว

      5.ตัวอย่างดินที่เก็บในข้อ 4 อาจมีปริมาณมากแบ่งส่งไปวิเคราะห์เพียงครึ่งกิโลกรัม วิธีการแบ่งเกลี่ยแผ่ให้เป็นวงกลมแล้วผ่ากลางเป็น 4 ส่วนเท่ากัน เก็บเพียง 1 ส่วนราวครึ่งกิโลกรัมใส่ถุงพลาสติกที่สะอาดพร้อมแบบฟอร์มที่บันทึกรายละเอียดตัวอย่างดิน ปิดปากถุงให้แน่นใส่กล่องกระดาษแข็งอีกชึ้น (กรณีส่งพัสดุไปรษณีย์) ส่งไปวิเคราะห์ ซึ่งระยะเวลาทำงานของห้องปฏิบัติการจนถึงการส่งผลกลับ 1-2 เดือน 

      ทั้งนี้ ตัวอย่างดิน จะส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้าน หรือส่งไปที่สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร.02-561-4179 หรือสายด่วน 1760 ต่อ 3120

      อ้างอิง : กรมพัฒนาที่ดิน : http://www.ldd.go.th/web_Soilanaly/Index.html