15หน่วยงานร่วมเคลื่อน"ชุมชนไม้มีค่า": เป้า10ปี2หมื่นแห่ง เพิ่มพื้นที่ป่า26ล้านไร่

 

      รุงเทพฯ - สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดแถลงข่าวโครงการ"ชุมชนไม้มีค่า"ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้ มีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)

      ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ"ชุมชนไม้มีค่า"โดยมอบหมายให้ วช.เป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการร่วมกับกรมป่าไม้,ธ.ก.ส.,สพภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 11 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรมพัฒนาธุรกิจการค้า,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง,สมาคมธุรกิจไม้,สมาคมธนาคารไทย,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช,องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้,กรมวิชาการเกษตร,กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนประชาชนฐานรากให้ปลูกไม้มีค่าเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆในการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

      การดำเนินโครงการ"ชุมชนไม้มีค่า"เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านกฎหมาย,การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และคัดกรองพื้นที่เป้าหมาย,การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการปลูกและการใช้ประโยชน์ มีกลไกดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลักๆดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ พร้อมทั้งให้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้มีค่า ให้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเรื่องต่างๆ 

      กรมป่าไม้ ดำเนินการจัดทำปรับปรุง แก้ไข และบริการวิชาการเรื่องพระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการปลูกและการตัดไม้ รวมทั้งสนับสนุนการคัดเลือก เพาะพันธุ์ไม้และการขยายพันธุ์ไม้มีค่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งจัดทำเกณฑ์มาตรฐาน การประเมินมูลค่าไม้ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ และเรื่องการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อน และเตรียมกลไกผลักดันอย่างเร่งด่วนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการสนองผลตามนโยบายกลไกประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน เพื่อให้คนไทยสามารถปลูกไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์ และสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้มีค่าเป็นต้นทุนของครอบครัวที่มีมูลค่าสูง มีระบบกำกับ ควบคุมตรวจสอบ และรับรองไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

      ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 2 หมื่นชุมชน ภายใน 10 ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 1 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของชาติตั้งแต่ฐานราก อันจะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

       สำหรับรายชื่อไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จำนวน 58 ชนิด ประกอบด้วย 1.สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20.ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26.นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์

       31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี-จำปา 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กะทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม