กรมประมงแถลง ชู "ปลากัด" สัตว์น้ำประจำชาติ

         เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวอมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมประมง และนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง ร่วมแถลงข่าวในประเด็น การนำเสนอ "ปลากัด" เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ
         ทั้งนี้ นางสาวอมรรัตน์ กล่าวว่า ปลากัด เป็นสัตว์น้ำสวยงามอีกชนิดหนึ่งที่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าภาคการเกษตรของไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เนื่องจากปลากัดไทยเป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จนปลากัดของไทยกลายเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากล

         กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นศักยภาพดังกล่าว จึงได้ผลักดันให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เพื่อเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ให้สัตว์น้ำสวยงามไทย ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตสังคมและวัฒนธรรมไทยมายาวนานกว่า 667 ปี จนถึงปัจจุบันยังคงมีการสืบสานการเลี้ยงปลากัดในแทบทุกจังหวัด ทั้งการเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ การเลี้ยงเป็นงานอดิเรก และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชน ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์และขยายสู่เชิงพาณิชย์ สามารถสร้างอาชีพหลักและสร้างรายได้เสริม ตลอดจนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน นำรายได้เข้าประเทศปีละไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
         ด้านนายเฉลิมชัย เผยว่า กรมประมงได้พยายามดำเนินการขับเคลื่อนให้มีการประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติอย่างเต็มที่ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติเห็นชอบตามมติการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นควรให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาก่อน
         ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรให้มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)เพื่อประโยชน์ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้รับเรื่องดังกล่าวมาทบทวนตามข้อเสนอแนะ และได้มีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ปลากัดไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)ได้

         อย่างไรก็ตาม กรมประมง ยังเห็นถึงความสำคัญของการที่จะนำเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ จึงได้มุ่งมั่นค้นคว้ารวบรวมรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วนต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึก มิติด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี มิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากมีขั้นตอนตามระบบราชการ ซึ่งกรมประมงจะพยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้กรมประมงพร้อมที่เสนอให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง