สนองพระราชดำริสางปัญหาน้ำให้คนชัยภูมิ (ชมคลิป)

 

         "บิ๊กฉัตร" พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี นำทีมลุย "ชัยภูมิ" ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อน "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต รายได้ และความสุขอย่างยั่งยืน" พร้อมเช็คความพร้อมโครงการก่อสร้าง "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" แก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งซ้ำซากให้คนในพื้นที่ เผยสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ถึง 24,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 14,160 ครัวเรือน 87,600 คน


         พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ติดตามขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ บังเกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎร รวมทั้งน้อมนําศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ รัฐบาลจึงได้มอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. ผนวกการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561-2580
         โดยในช่วงระหว่างปี 2562-2565 ได้วางแผนขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่จำนวน 31 โครงการ โดยในปี 2562 เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการซึ่งหนึ่งในนั้น คือ โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ โดยในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ได้นำคณะผู้บริหาร สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และติดตามการเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ


         พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า พื้นที่ จ.ชัยภูมิ อยู่ติดกับเทือกเขาดงพญาเย็น เป็นต้นน้ำแม่น้ำชี แต่มีพื้นที่เก็บกักน้ำน้อย โดยมีเขื่อนขนาดใหญ่เพียง 1 แห่ง คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ ความจุ 164 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นอกจากนี้ยังมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งเป็นประจำ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ อ่างเก็บน้ำลำสะพุง เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำหลากในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง กระทั่งปี 2538 กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการออกแบบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยพบว่ามีพื้นที่ในเขตป่า 2,100 ไร่ และไม่สามารถขออนุญาตใช้พื้นที่ได้ทั้งหมด ทำให้โครงการต้องชะลอออกไป
         อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการโครงการนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาและต้องการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั่วประเทศ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จึงได้มอบให้ สทนช. ผนวกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ รวมถึงโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ เข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะ 20 ปี
         "โดยในส่วนการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯนั้น ผมได้ประสานไปยัง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาใช้พื้นที่ รวมทั้งมีการปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อลดพื้นที่การใช้ป่า และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย จนนำไปสู่การอนุญาตใช้พื้นที่ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมด้วยช่วยกันในครั้งนี้"


         พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,965 ล้านบาท ซึ่งเดิมไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2562 จึงได้นำเรื่องรายงานไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นห่วงใยปัญหาของประชาชนมาก จึงได้อนุมัติให้แปรญัตติบรรจุงบประมาณใน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2562 วงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อเริ่มต้นโครงการนี้ และ ในปีต่อไป จะจัดสรรงบประมาณเพื่อเร่งรัดโครงการนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
         "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ มีปริมาณเก็บกักทั้งสิ้น 32 ล้าน ลบ.ม. ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ถึง 24,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ประชาชนได้รับประโยชน์ 14,160 ครัวเรือน 87,600 คน  ซึ่งสะท้อนให้เราทุกคนเห็นว่า ศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นงานวิจัยพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติอย่างแท้จริง เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนําปัญหาที่มีอยู่จริง มาศึกษาหาแนวทางแก้ไขในทุกมิติ ทรงทดลอง จนแน่พระทัยว่าได้ผล จึงพระราชทานแนวทางให้หน่วยงานดำเนินการ การได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้สำหรับรัฐบาลและประชาชนชาวไทยทุกคน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้าย