ข้อมูลที่ผิดพลาด! ไม่อาจทำให้การวิเคราะห์-การวางแผนถูกต้องได้!

  

    ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในระบบราชการไทย หนีไม่พ้นเรื่องข้อมูล ทั้งที่มาของข้อมูล กระบวนการจัดทำ การบันทึก การจัดเก็บ และการปรับปรุงข้อมูล

       เฉพาะข้อมูลทรัพยากรน้ำ ลองไปเปรียบเทียบดูระหว่างหน่วยงาน บางครั้งเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน บางครั้งขนาดภายในหน่วยงานเดียวยังแตกต่างกันอย่างชวนน่าพิศวง

       มีหลายเหตุปัจจัยมากที่ทำให้ข้อมูลแตกต่างกัน เช่น หน่วยงานต้นตอข้อมูลปรับเปลี่ยนข้อมูล หน่วยงานอื่นไม่รู้ก็ยังนำข้อมูลเก่าไปอ้างอิงตามเดิม บางครั้งข้อมูลเก่าไม่ปรับปรุงทั้งที่สถานการณ์เปลี่ยนไป ไม่ว่าปริมาณฝนเฉลี่ย น้ำท่าเฉลี่ย น้ำท่าเฉลี่ยที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ ความจุอ่างเก็บน้ำ พื้นที่เพาะปลูก ชนิดพืชที่ปลูก การใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น

       ข้อมูลที่ผิดพลาดไม่อาจทำให้การวิเคราะห์และวางแผนถูกต้องได้

       ถ้าพิจารณาการดำเนินงานของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะเห็นช่องโหว่เรื่องฐานข้อมูลน้ำได้ค่อนข้างชัดเจน

       ศูนย์เฉพาะกิจฯ เป็นหัวหอกบูรณาการ 10 หน่วยงาน เมื่อร้องขอข้อมูลไปเพื่อจัดทำฐานข้อมูลกลางปรากฏว่า ข้อมูลที่ได้รับกลับมาไม่ตรงกันบ้าง บันทึกกันคนละวิธีบ้าง มีรูปแบบการจัดเก็บที่แตกต่างกันบ้าง ฯลฯ เมื่อเชื่อมโยงให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันก็ต้องออกแรงมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น เพื่อแปลงให้เป็นระบบเดียวกันที่สามารถจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลกลางได้

       เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่ศูนย์เฉพาะกิจฯ เท่านั้นที่เผชิญปัญหาโลกแตก กระทรวงอื่นเหมือนกัน หน่วยงานหนึ่งบันทึกกำลังการผลิตเป็นตันต่อชั่วโมง อีกหน่วยบันทึกกำลังการผลิตเป็นกำลังแรงม้า

       ว่ากันที่จริง เป็นเรื่องที่ถึงขั้นต้องปฏิวัติระบบฐานข้อมูลกันเลยทีเดียว

       สำหรับข้อมูลน้ำ ถ้า สทนช. ต้องลงมือเองโดยตรง ไม่น่าจะเหมาะสมเสียทีเดียว ทุกวันนี้งานล้นมือเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่มีอยู่จิบจ้อย น่าจะใช้บริการหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำฐานข้อมูลอยู่แล้วเป็นเจ้าภาพบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นก่อน ไม่ก็หาทางผลักดันเข้ามาเป็นหน่วยงานภายในกำกับ สทนช.เสียก็ได้ หากจำเป็นจริงๆ ลำพังหาก สทนช.จะลงทุนจัดตั้งเองต้องใช้เวลาไม่รู้อีกกี่นาน

       อย่าลืมว่า ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนและตัดสินใจ

       แผนงานโครงการเกี่ยวกับน้ำหรือการบริหารจัดการน้ำ หากขาดเสียซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องหรือใกล้ความจริง แผนงาน โครงการนั้นก็ล้มเหลว ไม่อาจตอบโจทย์งานบริหารจัดการน้ำที่ สทนช. มีเดิมพันเป็นผลประโยชน์ระดับชาติ

       การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้านน้ำในศูนย์เฉพาะกิจในภาวะวิกฤติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน และสำเร็จเป็นครั้งแรกในการใช้บริหารจัดการน้ำ ต้องถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นสัญญาณบวกที่จะต้องขับเคลื่อนกันต่อไป 

       อย่างน้อย เป็นความพยายามของทุกฝ่ายในการบรรลุถึงฐานข้อมูลเดียวกัน จนเป็นผลสำเร็จระดับหนึ่ง

       หน่วยงานเจ้าภาพทำหน้าที่ในการปฏิวัติระบบฐานข้อมูล ตั้งแต่ข้อมูลเก่าที่จะต้องแปรเป็นข้อมูลในรูปแบบใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาแปลงข้อมูลกันอีกครั้ง หรือข้อมูลใหม่ที่ต้องวางแผนการออกแบบ การบันทึก และจัดเก็บ รวมทั้งการปรับปรุงเป็นระยะอย่างเป็นระบบ

       ฐานข้อมูลที่ขึ้นอยู่บนหน้าเดียวของเว็บไซต์ ช่วยให้การวิเคราะห์และวางแผนบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น เร็วขึ้น ป้องกันปัญหาได้ดีขึ้น กลับกันสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เป็นข้อมูลชุดเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์สำหรับหน่วยงานกำกับการบริหารจัดการน้ำอย่าง สทนช.และแต่ละหน่วยงานเท่านั้น หากยังเกิดประโยชน์ต่อการวางแผนการเพาะปลูก กระทั่งการลงทุนของหน่วยงานอื่นและภาคเอกชน

       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะให้ความสนใจการบริหารระบบฐานข้อมูลน้ำ เพราะเป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปีอย่างชัดเจน

       ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเดินได้หรือกระย่องกระแย่งด้วยระบบฐานข้อมูลนี่แหละ