รัฐจัดเต็ม"งบฯ-เบี้ยประกัน"จูงใจเกษตรกรเคลื่อนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

       ทำเนียบฯ - พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำโครงการสานพลังประชารัฐ สนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อไม่ให้เกษตรกรฝากชีวิตกับการปลูกข้าวอย่างเดียว จึงควรปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเสริมหรือทดแทนเพิ่มเติม จึงเชิญชวนเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เป้าหมาย 33 จังหวัด จำนวน 2 ล้านไร่ กำหนดให้อยู่ในเขตชลประทาน หากอยู่นอกเขตชลประทานต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

       โดยใช้นโยบายตลาดเป็นตัวนำด้วยการเจรจาให้เอกชนมารับซื้อตามราคาเป้าหมาย ไม่ต่ำกิโลกรัมละ 8 บาท และดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาร่วมปล่อยสินเชื่อวงเงิน 2,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 รัฐบาลชดเชยภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 จัดเก็บดอกเบี้ยจากสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรร้อยละ 0.01 ระยะเวลาชำระเงินไม่เกิน 6 เดือน จึงใช้งบประมาณดูแลทุกด้านทั้งชดเชยสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร ชดเชยภาระดอกเบี้ย ค่าบริหารจัดการรวม 461 ล้านบาท 

       ด้าน นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมผู้บริหารกระทรวงและกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้กำชับถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปี 2561 ซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากเป็นโครงการแรกของการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาคเกษตรของไทย ด้วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ (Agriculture Production Plan) รัฐบาลจึงต้องสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรเพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ

       ด้วยสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 70 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละ 32.63 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีเพียง 30.88 ล้านตันข้าวเปลือก จึงคงเหลือผลผลิตส่วนเกิน 1.75 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการปลูกพืชซึ่งยังขาดแคลนโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งความต้องการใช้มีปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน ต้องพึ่งพาการนำเข้า ดังนั้น หากลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังซึ่งมีอยู่ 12.2 ล้านไร่ แล้วคัดเลือกพื้นที่ซึ่งมีสภาพดินเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่ จะลดผลผลิตข้าวส่วนเกินลงไป ทำให้ราคาข้าวดีขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูก ซึ่งให้กำไรประมาณ 3,690.34 บาทต่อไร่ ขณะที่ข้าวนาปรังได้กำไรไร่ละ 306.29 บาท

       ทั้งนี้ ได้กำชับให้เกษตรอำเภอ นำเรื่องการเชิญชวนปลูกข้าวโพดแทนนาปรังเข้าประชุมชี้แจงที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านภายในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นให้เกษตรจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการส่งคณะวิทยากรจัดการอบรมให้ความรู้ในการปลูก การลดต้นทุน และการรักษาแปลงให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯกว่า 286 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์ จัดเวทีรับสมัครเกษตรกร อบรมเกษตรกร โดยต้องกำหนดมาตรการจูงใจเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ

       โดยรัฐสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิต การเตรียมดิน ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมประสานเอกชนให้รับซื้อตามคุณภาพทในราคาไม่น้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่กระทรวงพาณิชยกหนดซึ่ง กำหนดรับซื้อข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8 บาท มีงบสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ ซึ่งจะได้รับเพิ่มเติมจากเงินชดเชยกรณีเกิดสาธารณภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังเพิ่มเติมอีกไร่ละ 1,500 บาท ในส่วนของการรวบรวมและรับซื้อผลผลิต รัฐสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร อาทิ สหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อม โดยธ.ก.ส. คิดอัตราร้อยละ 4 ต่อปี แต่เรียกเก็บสถาบันเกษตรกรร้อยละ 1 ต่อปี รัฐชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี

      สำหรับพื้นที่ในโครงการนั้นมี 33 จังหวัดได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโชทัย อุทัยธานี นครราชสีมา นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และสระแก้ว