สถานการณ์น้ำไทยภายใต้ศูนย์ ฉก. ในภาวะวิกฤติ
  • 1 ตุลาคม 2018 at 14:14
  • 829
  • 0

 

         ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน เริ่มจากน้ำในเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนน้ำอูนมีปริมาณมากกว่าความจุระดับเก็บกักและจ่อตามมาด้วยเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ที่มีมากกว่า 90% ของความจุแล้ว

        มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหัวเรือใหญ่ในการบูรณาการข้อมูลในสถานการณ์วิกฤตินี้ ซึ่งมอบหมายให้นายสำเริง ภู่แสงวงษ์ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ 

        ทุกวันนี้ มีบางหน่วยงานอย่าง เช่น กรมชลประทาน ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์น้ำทุกวันอยู่แล้ว แต่ภายในบริบทเฉพาะของหน่วยตัวเองไม่สามารถครอบคลุมน้ำทั้งระบบ ทำให้ไม่อาจเห็นภาพน้ำทั้งระบบได้ชัดเจนเสียทีเดียว เมื่อจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติขึ้นมา จึงเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ดีขึ้น 

        เพราะเป็นคำตอบที่ครบถ้วนกระบวนความ จากการรวมศูนย์ข้อมูลและการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้านน้ำเข้าด้วยกันทั้งหมด ทั้งเป็นคำตอบให้รัฐบาลพร้อมๆ กับเป็นช่องทางสื่อสารให้ประชาชนได้ล่วงรู้ภาพรวมสถานการณ์น้ำ 

        วิธีเข้าถึงข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ทำได้ง่ายมากผ่านเว็บไซท์ของศูนย์เฉพาะกิจฯ คือ nwcc@onwr.go.th หรือโทรฯ สอบถาม 02-288-6032,02-288-6033 ข้อมูลนี้จะฉายภาพที่มีรายละเอียดพอสมควร ลดความกังวลตื่นกลัว และเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆได้

        เพราะรายงานสถานการณ์น้ำของประเทศไทยรายวันของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ จะเห็นถึงขอบข่ายข้อมูลที่กว้างขึ้น มีการสรุปสถานการณ์ สถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำ/ลำน้ำ การติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่

        การมีข้อมูลน้ำที่ครอบคลุม เท่ากับเป็นการสร้างความรับรู้ ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชนไปในตัวด้วย โดยไม่ต้องกังวลกับข่าวสารที่ไม่มีแหล่งข่าวชัดเจน ไม่มีที่ไปที่มา ประเภทข่าวปล่อย ข่าวลวง ข่าวใส่สีตีไข่ ที่ปล่อยผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะทั้งหลาย

       ในเมื่อเป็นงานภายใต้ความรับผิดชอบของ สทนช.เป็นสำคัญ สถานที่ตั้งของศูนย์ฯ จึงควรเป็นที่ สทนช.แต่กลับไม่ใช่ เพราะไปอาศัยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ของกรมชลประทานเป็นที่ทำการชั่วคราว เนื่องจาก สทนช.เองเพิ่งจัดตั้งได้ไม่กี่เดือน ทั้งสถานที่และเครื่องไม้เครื่องมือก็ยังไม่มีเพียงพอ

       เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รวมถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแล สทนช.สมควรต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเพื่อเติมเต็มความพร้อมให้ สทนช.ในการบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างเต็มที่

       เพราะภาวะวิกฤติไม่ได้มีแค่ช่วงน้ำหลาก น้ำท่วม พ้นจากนี้จะเป็นช่วงแล้ง น้ำขาดแคลน ก็จะเข้าภาวะวิกฤติอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอาจต้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำสำหรับบริหารจัดการน้ำของ สทนช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เรื่องน้ำของประเทศโดยรวม จำเป็นต้องสร้างความพร้อมมากกว่านี้ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และงบประมาณ

       ที่สำคัญ สทนช.ยังเป็นหน้าตา และเป็นเครื่องมือบริหารน้ำของรัฐบาลอีกด้วย