เรียนรู้ "เนเธอร์แลนด์" รวมพลังคนทั้งชาติ แก้้วิกฤติน้ำท่วมเมือง

 

     สภาพภูมิประเทศระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ บางส่วนคล้ายกัน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยเป็นที่ราบต่ำ โดยมีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่กี่เซ็นติเมตร ในขณะเนเธอร์แลนด์ได้ชื่อเป็นประเทศที่มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1 ใน 4 ของทั้งประเทศทีเดียว

       ท่ามกลางปัญหาใหญ่นี้ เนเธอร์แลนด์กลับสั่งสมความรู้ในการแก้ไขปัญหา จนกลายเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และนวัตกรรม เป็นที่เลื่องลือและยอมรับกัน

       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2440 หลังจากนั้นพระองค์เสด็จฯ ชวา (อินโดนีเซีย) ซึ่งเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์หลายครั้ง ทรงหมายตาเรื่องการจัดการน้ำที่เนเธอร์แลนด์เข้าไปจัดการในชวา ซึ่งชวายุคนั้นมีระบบการจัดการน้ำที่ทันสมัยและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ

       ปี 2445 พระองค์ทรงจัดตั้งกรมคลองและทรงขอยืมตัว นายเย โฮมัน วัน เดอร์ ไฮเด วิศวกรชลประทานชาวดัตช์ที่ทำงานที่นั่น มารับตำแหน่งเจ้ากรมคลองคนแรกของสยาม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมชลประทานถึงปัจจุบัน และนายช่างชาวดัตช์ผู้นี้ช่วยวางแผนการสร้างพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ โดยเสนอก่อสร้างเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท นั่นเอง

       เนเธอร์แลนด์กับไทย จึงมีความสัมพันธ์อันดีเรื่อยมาและมีความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำกับหน่วยงานของไทยหลายหน่วย อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น

       หลังมหาอุทกภัยปี 2554 เนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการอุทกภัยกับหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้ง เมื่อปี 2559 เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบเอกสารโครงการบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ให้พิจารณาใช้ประโยชน์

       เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ยังได้เชิญ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางไปเยือนเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2561

      “นอกจากกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว ยังแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำจากประเทศต้นแบบที่มีความเชี่ยวชาญในระบบการจัดการป้องกันน้ำท่วมที่โดดเด่นและได้มาตรฐาน อีกทั้ง ยังจะพัฒนาไปสู่ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

       พล.อ.ฉัตรชัย ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางกำกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เมื่อปลายปี 2560 การดูงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้ มาประยุกต์ใช้ เช่นเดียวกับนโยบายการพัฒนาคลองและพื้นที่ริมคลองของไทยให้เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มศักยภาพ

      ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการพบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์แล้ว ยังรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำของเนเธอร์แลนด์ เช่น ไรจ์วอเตอร์สตาร์จ (Rijkwaterstaat) ดัทชวอเตอร์บอร์ด (Dutch Water Board) สถาบันเดลต้าเรส (Deltares) สถาบันอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งการดูงานการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้คันกั้นน้ำ และดูการจัดระเบียบคลองและชุมชนสองฝั่งคลอง

       “เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องระบบการจัดการน้ำและการจัดโครงสร้างของหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของประเทศ อีกทั้ง เขามีระบบการติดตามพยากรณ์อากาศที่แม่นยำรายชั่วโมงเลยทีเดียว ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีความโดดเด่นมาก ขณะที่เราเองได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา มีแผนยุทธศาสตร์ในหลายมิติที่จะแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ บูรณาการแผนงานโครงการที่เป็นระบบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับลุ่มน้ำที่จะมีบทบาทแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ รวมทั้งในภาวะวิกฤติ เราเองใช้การจัดตั้งคณะทำงานแบบรวมศูนย์ ให้หน่วยงานเข้ามามีบทบาทตามหน้าที่”

       ดร.สมเกียรติ ย้ำด้วยว่า การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทำให้เนเธอร์แลนด์สามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้ ทั้งที่มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งจุดต่ำสุดมีความลึกถึง 7 เมตรทีเดียว

       “กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีลักษณะใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีข้อกังวลว่า จะจมใต้บาดาลนั้นก็เรื่องดีที่ห่วงใย แต่เมื่อเรามีแผนงานจัดการที่เป็นระบบและชัดเจน ก็เชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์”เลขาธิการ สทนช.กล่าว