พาณิชย์เล็งใช้ กม.ควบคุมโรคพืชสกัดมะพร้าวเถื่อน

         จากกรณีที่ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชาวสวนจังหวัดภาคใต้อีกหลายจังหวัดขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคามะพร้าวผลตกต่ำ โดยมีการกล่าวหาว่าเป็นผลมาจากมะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศนั้น
         ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2561 นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่าอาจมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะเมื่อพิจารณาสถิติการนำเข้าในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 195,303 ตัน ลดลงร้อยละ  27.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 268,672 ตัน ซึ่งการนำเข้าอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักตามที่กลุ่มเกษตรกรมีความเข้าใจ
         "ปัญหาที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้รับความเดือดร้อนจากราคามะพร้าวตกต่ำอาจมีความเป็นไปได้ว่ามะพร้าวที่สร้างความเดือดร้อนอยู่ในท้องตลาดมีแหล่งที่มาไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมฯ ได้ประสานไปยังกรมศุลกากร เพื่อให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวและที่ผ่านมามีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 กรมการค้าภายในได้ประสานกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มความเข้มงวด ตรวจสอบ ปราบปรามการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวในประเทศ"
         สำหรับข้อเรียกร้องให้ภาครัฐชะลอการนำเข้ามะพร้าว ทั้งมะพร้าวผล น้ำกะทิ และมะพร้าวขาวแช่แข็งจากต่างประเทศ กรมฯ ได้รับทราบและตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรและพิจารณาเพื่อหามาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นการใช้มาตรการห้ามนำเข้า พบว่า จะเป็นการขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) จึงได้พิจาณาแนวทางออกอื่น ซึ่งพบว่าสามารถนำมาตรการที่มิใช่ภาษีเข้ามาใช้ในการชะลอการนำเข้าได้ และการใช้มาตรการเข้มงวดโดยใช้กฎหมายการควบคุมโรคพืชที่จะเข้มงวดต่อการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศว่าเป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยหรือไม่
         นายอดุลย์ ยังกล่าวถึงการเสนอให้ภาครัฐกำหนดราคากลางมะพร้าว โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 15 บาทต่อผลด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่การเสนอให้ทบทวนระเบียบการนำเข้าที่ต้องการให้มีแต่อุตสาหกรรมน้ำกะทิเป็นผู้นำเข้าและต้องแนบข้อมูลการนำเข้าย้อนหลัง 2 ปี และกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดเงื่อนไขการนำเข้านั้น กรมฯ จะส่งทั้ง 2 เรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์นำเข้าและเกณฑ์การออกหนังสือรับรอง รวมถึงกำหนดบทลงโทษต่อไป