เร่งยกระดับธนาคารต้นไม้ สู่มาตรฐาน "ชุมชนไม้มีค่า"

 

    อุทัยธานี – นายศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการธนาคารต้นไม้บ้านหนองจิก หมู่ 7 ต.หนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี พร้อมมอบสินเชื่อโครงการธนาคารต้นไม้ให้กับเกษตรกร 2 รายแรกในประเทศไทย ได้แก่ นางวัชรี อภัย 30,000 บาท นางเพ็ญศรี เพ็งพะยม 10,000  บาท

       นายศรายุทธ กล่าวว่า ธ.ก.ส.สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาพึ่งพาตนเอง โดยการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและของชุมชน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดินเปรียบเสมือนการออมทรัพย์หรือการลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนใด ๆ มีความเสี่ยงน้อย สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 กันยายน 2561 ที่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า ผ่านชุมชนทั่วประเทศ 20,000 แห่ง หรือ 2.6 ล้านครัวเรือน ภายใน 10 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ 26 ล้านไร่ 

      โดยการดำเนินงานสนับสนุนโครงการดังกล่าว ธ.ก.ส.ร่วมกับกรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ โดยกำหนดอายุต้นไม้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ปลูกในที่ดินของตนเอง โดยที่ดิน 1 ไร่ รับขึ้นทะเบียนไม่เกิน 400 ต้น ซึ่งในการวัดมูลค่าจะต้องมีกรรมการและสมาชิกธนาคารต้นไม้รวมกันอย่างน้อย 3 คน ร่วมประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นรายต้นที่ความสูงจากโคน 130 เซนติเมตร มีขนาดเส้น รอบวงต้นไม่ต่ำกว่า 3 เซนติเมตร แล้วเปรียบเทียบเส้นรอบวงที่วัดได้กับตารางปริมาณและราคาเนื้อไม้เพื่อหามูลค่าต้นไม้ ตาม 4 กลุ่มดังนี้

       กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ เช่น ไม้กระถิน เทพณรงค์ สะเดา เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา ตะเคียนทอง เป็นต้น กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะปิน (มะตูม) เป็นต้น กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้พะยูง จันทร์หอม มะค่าโมง เป็นต้น จากนั้นบันทึกข้อมูลลงในแบบตรวจสอบและประเมินมูลค่าต้นไม้ (ธตม.3) และบันทึกรับฝากต้นไม้ในสมุดธนาคารต้นไม้ (ธตม.9) เพื่อแสดงมูลค่าสินทรัพย์ใช้เป็นหลักทรัพย์และหลักประกัน  

       "มูลค่าต้นไม้แต่ละต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยใช้เป็นส่วนควบในการเพิ่มวงเงินจดทะเบียนจำนองที่ดินได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาประเมินมูลค่าต้นไม้ เช่น ที่ดินราคาประเมิน 500,000 บาท ปกติกู้ได้ร้อยละ 50 ของราคาประเมิน คือ 250,000 บาท กรณีมีต้นไม้ที่ประเมินมูลค่าไว้ 300,000 บาท ซึ่งจะสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีกร้อยละ 50 หรือ 150,000 บาท รวมหลักทรัพย์ค้ำประกัน 650,000 บาท โดยปกติกู้ได้ร้อยละ 50 ของวงเงินที่กู้ได้เท่ากับ 325,000 บาท เพิ่มจากเดิม 75,000 บาท พร้อมย้ำว่าโฉนดต้นไม้ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ แต่เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่า แต่ละแปลงมีต้นไม้จำนวนเท่าใด" นายศรายุทธ แจง

       ปัจจุบันมีชุมชนที่ร่วมปลูกต้นไม้กับ ธ.ก.ส.ตามโครงการธนาคารต้นไม้ 6,804 ชุมชน มีสมาชิก 115,217 ราย มีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศกว่า 11.7 ล้านต้น ในส่วนของบ้านหนองจิก ต.หนองยาง  เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ดำเนินงานตามหลักการธนาคารต้นไม้ตั้งแต่ปี 2554 โดยกำหนดให้ตัวแทนชาวบ้าน ทั้ง 10 หมู่บ้าน อย่างน้อยหมู่บ้านละ 9 ครัวเรือน ปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนอย่างน้อย 9 ต้น มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ประจำชุมชน เพื่อทำการวัดขนาดและประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อจัดทำทะเบียน ตลอดจนออกโฉนดธนาคารต้นไม้ให้กับสมาชิกได้แล้วกว่า 30 แปลง โดยต้นไม้ที่ปลูกส่วนมากเป็นต้นพยุงและสะเดา เมื่อไม้ใหญ่เติบโตขึ้น ทำให้บริเวณโดยรอบเกิดความชุ่มชื้น พืชพรรณประเภทอาหารและสมุนไพรชนิดต่างๆงอกงาม ทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากป่าและเห็นคุณค่าของการมีป่าไม้