ผลสำเร็จ "ทุเรียนวังหว้า" ชุมชนร่วมคิด ร่วมสร้าง

 

    ทุเรียนระยองได้ชื่อเป็นทุเรียนคุณภาพ  และจำนวนไม่น้อยมาจาก อ.แกลง และ 1 ใน 15 ตำบลของ อ.แกลง มาจากตำบลวังหว้า แหล่งปลูกใหญ่

       วังหว้าก็เหมือนพื้นที่อื่นของภาคตะวันออก ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจนเดือดร้อน แต่เมื่อมีอ่างเก็บน้ำประแสร์ ความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นมา พื้นที่ ต.วังหว้า ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งในการส่งน้ำโดยระบบท่อความยาว 25 กิโลเมตร ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์

       ทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่กำลังผลิดอกออกผล เมื่อขาดน้ำ กลไกของต้นทุเรียนจะสลัดดอกกระทั่งลูก เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรโดยปริยาย

       ถึงจะมีน้ำจากโครงการส่งน้ำฯ ประแสร์ แต่ชุมชนที่ไม่มีส่วนร่วมก็ขัดแย้ง แย่งน้ำกันเหมือนเดิม ใครอยู่ต้นน้ำก็ใช้น้ำเต็มที่ โดยไม่คำนึงว่าเต็มที่ของตัวเองคือส่วนพร่องของคนอื่นที่จะได้รับ เข้าทำนองมือใครยาวสาวได้สาวเอา

       นายประพัฒน์ จันทร์พราหมณ์ กำนันหนุ่มแห่ง ต.วังหว้า อ.แกลง เล่าว่า ในฐานะกำนันก็ต้องหาวิธีการจัดการให้ลงตัว โดยใช้เวทีการประชุมผู้นำประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย 14 หมู่บ้าน มาประชุมหารือและให้แต่ละหมู่รายงานผลความเดือดร้อนของลูกบ้าน ซึ่งแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง จนเมื่อกรมชลประทานนำเอากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) เข้าไปทำงานในพื้นที่ ความขัดแย้งค่อยๆ ลดลง จนท้ายที่สุดกลายเป็นความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำวังหว้า

       ที่นี่มีพื้นฐานแข็งแรงดั้งเดิมจากอดีตกำนันคนก่อน คือ กำนันสำเริง คนฑา ที่เป็นกำนันกว่า 30 ปี กระทั่งเกษียณ การทำงานในชุมชนยาวนานด้วยความตั้งใจดี ทำให้กำนันสำเริงกลายเป็นคนที่ลูกบ้านเกรงใจ เรียกประชุมหรือทำกิจกรรมใด ชาวบ้านแห่กันมาเนืองแน่นทุกครั้ง

       กระบวนการแก้ไขปัญหาเป็นครั้งคราวไม่ใช่ความยั่งยืน จนเมื่อ คสป.ซึ่งมีคนวังหว้าด้วยกันร่วมกับหน่วยงานอื่นเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จากกรมชลประทานส่วนกลาง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ เปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยคิดถึงแต่ตัวเองก็เริ่มคิดถึงคนอื่น หัวอกของคนไม่ได้น้ำ โดยผ่านการลงไปพูดคุยสัมผัสความจริง สุดท้ายกลายเป็นความเห็นร่วมกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

       จากที่ส่งน้ำให้ต้นน้ำก่อน กลายเป็นปลายน้ำได้รับน้ำก่อนแล้วค่อยๆ ย้อนขึ้นมาต้นน้ำ ท่ามกลางการทำงานอย่างหนักในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และคำมั่นสัญญาว่า อย่างไรก็ได้น้ำแน่นอน

       จากพื้นที่ปลูกทุเรียนหมื่นไร่ เมื่อได้รับน้ำสมบูรณ์ วังหว้าก็ขยายเพิ่มเป็นเท่าตัว มูลค่า 600-700 ล้านบาท  กำนันประพัฒน์ขยับไปมากกว่าการมีส่วนร่วมเรื่องน้ำไปเป็นเรื่องการผลิตต่อ 

       “กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีผมเป็นประธานประชุมกัน เห็นว่า นอกจากวังหว้าแล้ว ที่ไหนๆ ก็ปลูกทุเรียนเป็นการใหญ่ อีกหน่อยผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้นมาก ทางออกต้องเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนให้ดี มีป้ายคิวอาร์ โค้ด ที่ลูกค้าสามารถสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นของสวนใคร ในเรื่องการตลาดก็ต้องให้ระวังการพึ่งพาตลาดจีนอย่างเดียว ให้มองตลาดภายในเพิ่มขึ้นด้วย  ถ้าทำได้อย่างนี้ ทุเรียนวังหว้าก็ไปรอด” กำนันประพัฒน์กล่าว

       นายมานิตย์ ดีเจริญชัยยะกุล  ผู้ช่วยกำนันประพัฒน์ กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ทุเรียนเริ่มถอยหลังกลับเป็นวัฐจักรเดิม กล่าวคือช่วงนี้ชาวสวนทุเรียนมีอำนาจเหนือล้งจีน โดยล้งจีนต้องเข้าไปตัดทุเรียนในสวน เพราะพื้นที่ปลูกน้อย ผลผลิตยังน้อย แต่อีก 6-7 ปีข้างหน้า ชาวสวนจะตัดทุเรียนไปส่งล้งจีน เพราะผลผลิตมากจากการขยายพื้นที่ปลูก ล้งจีนจะมีอำนาจเหนือชาวสวน

       อย่างไรก็ตาม แม้ผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ในบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าการขยายตลาดที่กว้างขวางขึ้น การแปรรูปได้หลากหลายขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาซื้อขายในอนาคต

      “ตอนนี้มีการนำทุเรียนไปแปรรูปหลายอย่าง ถ้าดิบก็นำไปทอด ถ้าสุกก็หั่นแช่แข็งบรรจุซองขายเป็นของขบเคี้ยว สุกเกินก็ทำทุเรียนกวน หรือไอศกรีมหรือหน้าเค้กได้ ตัวช่วยเหล่านี้จะดึงรั้งราคาทุเรียนได้”

       นายมานิตย์ยังกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของชาววังหว้าต่อการจัดการน้ำว่า มีแนวโน้มเป็นความเข้มแข็งแบบยั่งยืน ทุกคนเข้าถึงน้ำได้อย่างชัดเจน และทำให้พื้นที่ที่ยังไม่ได้รับน้ำต่างแสดงความต้องการโดยยินดีทำตามทุกอย่าง โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเห็นผลการมีส่วนร่วมในพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว

      “ที่สำคัญ สวนทุเรียนมีน้ำสมบูรณ์ นอกจากชาวสวนจะสบายใจแล้ว น้ำหนักทุเรียนแต่ละผลก็เพิ่มขึ้นชัดเจน ส่งผลให้ผลผลิตเชิงน้ำหนักต่อไร่เพิ่มขึ้น ชาวสวนได้เงินมากขึ้น ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส” นายมานิตย์กล่าว