แจ้ง 13 จว.ลุ่มเจ้าพระยารับมือน้ำเข้าทุ่ง : เลื่อนเพาะปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้น

 

    กรุงเทพฯ - นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 13 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี รวมทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) แจ้งแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2561 ซึ่งได้เลื่อนเวลาเพาะปลูกข้าวนาปี 13 ทุ่งให้เร็วขึ้น 

      สำหรับสภาพการเพาะปลูกพื้นที่ 1.496 ล้านไร่ เก็บเกี่ยว 1.442 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จทั้งหมดเดือนนี้ แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาตอนบนที่ทุ่งบางระกำ เพาะปลูก 382,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วทั้งหมด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีพื้นที่ปลูกข้าว 1.114 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.016 ล้านไร่ คงเหลือ 53,000 ไร่ พร้อมให้โครงการชลประทานจังหวัดและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาในพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรขอความอนุเคราะห์ทางจังหวัด ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกให้เร่งเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อใช้พื้นที่รองรับน้ำตัดยอดน้ำหลากพักน้ำไว้ชั่วคราว 

      ทั้งนี้ กำหนดการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนที่ทุ่งบางระกำ กำหนดรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด กำหนดรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 61 และทุ่งโพธิ์พระยา กำหนดรับน้ำเข้าทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 61 ส่วนโครงการฯพระยาบรรลือ และโครงการฯรังสิตใต้ จะเป็นการระบายน้ำผ่านทุ่ง ทั้งนี้ กรมชลประทานจะระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรทำการเกษตรรอบต่อไปให้ทันตามกำหนดเวลา  

      การรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ เป็นไปตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการหมักตอซังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำพันธุ์ปลาไปปล่อยให้เกษตรกรทำประมงเป็นรายได้เสริมทดแทนการทำนาปรัง อีกทั้ง ยังส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ที่มักประสบกับปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่อยู่อาศัยเป็นประจำ ซึ่งการนำน้ำเข้าแต่ละทุ่งจะต้องควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไปด้วย