สุดแดนสยามที่เหมืองปิล๊อก-ด่านเจดีย์สามองค์

สุดแดนสยามที่เหมืองปิล๊อก-ด่านเจดีย์สามองค์
โดย สรศักดิ์ ทับทิมพราย

         เหมืองปิล๊อก สมัยก่อนนั้นเส้นทางคมนาคม จากอำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี ไปที่เหมืองปิล๊อกเส้นทางเป็นทางลูกรัง ไปมาลำบากมากไม่มีรถประจำทาง ส่วนรถยนต์ที่จะไปรถยนต์ไม่ดีไม่ต้องวิ่งขึ้นไปเหมืองปิล๊อกเพราะถนนมีแต่หินลอย ลูกรังแดงวิ่งบนเทือกเขาตะนาวศรี บางแห่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ต้องวิ่งบนไหล่เทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นเขตแดนไทย-พม่า ผ่านมา 39-40 ปีในปี 2561 มีโอกาสเดินทางด้วยรถยนต์ไปที่เหมืองปิล๊อก แต่จริงๆแล้วไปที่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก เส้นทางน่ากลัวมาก วิ่งบนสันเขาตะนาวศรี โค้ง 399 โค้งสุดโหดบนเทือกเขาตะนาวศรี
         สองข้างทางด้านหนึ่งติดเทือกเขา อีกด้านหนึ่งเป็นหุบเหว ไม่ลึกมากแค่ 100-200 หรือ 500 เมตร มองไม่เห็นก้นเหว ถนนไหล่ทางทรุด เพราะไปในช่วงหน้าฝนในปัจจุบันเส้นทางสายนี้ทางหลวง กจ. 4088 ทางหลวงชนบทเป็นผู้ดูแลลาดยางถึงปิล๊อก แต่มีเส้นทางชำรุด ทรุดมากต้องปรับปรุงใหม่เกือบตลอดเส้นทาง รถยนต์ที่ใช้ไปปิล๊อกไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นรถเก๋งธรรมดา แต่ต้องเครื่องยนต์แรงสูงหน่อยเพราะเส้นทางบางแห่งบนเทือกเขาชันมาก ต้องรถกำลังส่งดีๆ

         ระยะทาง 70 กิโลเมตรแต่เดินทางจริง จากอำเภอทองผาภูมิไปบ้านอีต่อง ปิล๊อก ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางแทบไม่มีรถสวนไปมาเลย ที่บ้านอีต่องถึงปิล๊อกมีบ้านเรือนไม่มากแต่เป็นบ้านตึกบ้างไม้บ้าง เหมือนปลูกตามไหล่เขาสลับสูงๆต่ำๆ บ้านสวยๆ มีร้านค้าหลากหลายที่คอยบริการนักท่องเที่ยวเหมืองปิล๊อก ในวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปพัก มีทั้งโฮมสเตย์ ที่กางเต้นท์ มีมากมาย ของฝากจากพม่ามาขายที่บ้านอีต่อง ปิล๊อก มีเห็นทั่วไป
         วันที่ไปบ้านอีต่อง ปิล๊อก วันนั้นกว่าจะได้กินอาหารกลางวันประมาณ บ่ายสองโมงนั่งร้านอาหารครัวเจ๊ณี สั่งปูผัดผงกะหรี่ กุ้งอบเกลือ ผัดปลาคังผัดฉ่า อาหารทะเลบนบ้าน ปิล๊อกมีขาย เพราะอยู่ใกล้กับทะเล ทางทวายของประเทศพม่า ขนมตุ๊บตั๊บ อร่อยน่ากินห่อละคำ แต่มีราคาแพง น่าจะเป็นขนมมาจากประเทศจีนมากกว่าเป็นของที่ผลิตในพม่า แม้แต่ปลาหัวยุ่ง ประมาณ 2 ขีดใส่ถุงไว้ถุงละ 50 บาทแพง เกือบ 40 ปีที่ตั้งท่าจะเดินทางไปปิล๊อกและเพิ่งมีโอกาสได้ไป

         ย้อนมาพักที่ บ้านพักที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ เป็นอำเภอ ที่อยู่ระหว่างทางไปปิล๊อก และอีกเส้นทางไปอำเภอสังขละ เมื่อประมาณปี 2520-2521 มีโอกาสไปเที่ยวที่อำเภอทองผาภูมิ สมัยก่อนเรียกว่าประมาณ 40 ปี อะไรก็ยังไม่เจริญ เส้นทางจากกาญจนบุรี ออกมาไทรโยค ก็เป็นทางลูกรัง สมัยนั้นเชิงสะพานที่จะข้ามไปบ้านทองผาภูมิ คนพม่านำเอาไข่เต่ามาขาย ปลาหัวยุ่ง อาหารทะเลมาในเชิงสะพานทองผาภูมิราคาไม่แพง เที่ยวสนุก
         สมัยนั้นการสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ์ ยังเริ่มการก่อสร้าง หรือเริ่มสร้างปี 2522 มาเสร็จปี 2527 ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเขาแหลมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2529 ปัจจุบันเป็นสถานที่พักอย่างดี ราคาไม่แพงแถมเป็นข้าราชการลดให้อีก สถานที่ดีมากเคยไปพักมา 2-3 ครั้งแล้ว กลับมาจากปิล๊อก ก็มานอนเอาแรงที่บ้านพักภายในเขื่อน ไปเที่ยวบนสันเขื่อน ภายในเขื่อนมีสถานที่ออกกำลังกาย หญ้าเขียวขจี ไม่เหมือนบางแห่งเขื่อนแต่หญ้าเหลืองมองแล้วไม่น่าดู

         อาหารเช้าในตลาดทองผาภูมิ มีแทบทุกอย่างร้านต้มเลือดหมูพร้อมข้าว 1 จาน 35 บาท โจ๊ก 30 บาท ปาท่องโก๋ ตัวใหญ่ๆ 1 บาทหมูปิ้ง 10 บาท ข้าวเหนียว ห่อละ 5 บาท ข้าวแกงเป็นตลาดเช้าที่มีลูกค้าอุดหนุนกันแต่เช้ามืด พรรคพวกที่ไปด้วยกันไม่ยอมตื่น การค้าขายในตลาดเทศบาลทองผาภูมิน่าจะมีการค้าขายกันทั้งคืน ร้านอาหารริมแม่น้ำแคว ราคาสูงพอสมควร อาหารปลาส่วนใหญ่เป็นปลาที่มาจากเขื่อนเขาแหลม ปลาคังสดตัวใหญ่ๆกิโลกรัมละ 150 บาท
         การเดินทางไปอำเภอสังขละบุรีสุดแดนสยามที่ด่านเจดีสามองค์ เส้นทางนี้โหดเช่นกัน น้องเนมขับรถยนต์ด้วยตนเอง ถนนดี แต่มีทั้งขึ้นเขาสูงชั้น ลงเขาลาดต้องใช้เกียร์ 1 หรือ เกียร์ 2 เท่านั้น เบรก อย่าใช้มากเกรงเบรกไหม้ แต่ถ้าทำตามป้ายจราจร ข้างทางน่าจะปลอดภัย สองข้างทางที่น่ากลัวคือ รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง คนขับขี่สวมโสร่ง แทบไม่มีคนไทยเลย ข้างทางจะมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขาแหลมที่น้ำท่วมมาถึงเส้นทางไปอำเภอสังขละชายแดนไทย-พม่า
         ทางลงเขาช่วงสุดท้ายที่จะถึงสังขละ ชันมากยาว 2-3 ก.ม. ไปสมัยก่อนไม่มีวงเวียนทางแยกเข้าตลาดสังขละ ที่พักคนที่ไปเที่ยวส่วนใหญ่จะจ้องไปที่สะพานมอญ เพื่อไปใส่บาตร ทำให้ที่พักส่วนใหญ่จะมีเหมือนที่พักชั่วคราวที่เจ้าของเป็นชาวมอญ ที่พักใกล้ๆสะพานมอญ ทำให้ที่พักแพงมาก ที่พัก ที่เรียกกันว่าโรงแรมใกล้ๆสะพานมอญ บางเจ้า หรือบางแห่งมีแค่ 2-3 ห้องราคา 800-1,200 บาท หาที่พักใกล้สะพานมอญไม่ได้เลยไปพักที่สังขละคีรี รีสอร์ท ราคา คืนละ 1,200 บาทบริการอาหารเช้า กาแฟได้ตลอด
         อาหารเช้าที่ตลาดสดสังขละ ส่วนใหญ่จะเป็นของชาวพม่า ที่นับถืออิสลาม จะมีโรตี ปาท่องโก๋ กาแฟ จะมีซาโมซา ไส้มัน ไส้ไก่ขายตลาด ชิ้นละ 5 บาท พร้อมแกงฮังเลแบบพม่า ไม่ใช่ฮังเฮแบบภาคเหนือถ้ามีทั้งฮังเลเนื้อ ฮังเลหมู ฮังเลไก่ และที่แปลกคือฮังเลทอดมันปลา ของฝากที่ราคาไม่แพงน่าจะเป็นกะเทียมกิโลละ 40 บาท ปลาหัวยุ่งถุงละ 50 บาท น้ำมัน เติมรถยนต์ 91ผสมแพงกว่า เอาแค่ กาญจนบบุรี เกือบ 2 บาทต่อลิตร

         ไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เจดีย์สามองค์ เคยอยู่กลางถนน ปัจจุบันมีการล้อมรั้วมีคนบอกว่า ทางพม่าปิดด่าน แต่มีคนให้พาเข้าเที่ยวก็จะพาเข้าไปแสดงว่ามีการหากินร่วมกันกับทางพม่า ที่ปิดด่าน แต่ยอมให้เข้าไปโดยมีคนท้องถิ่นนำทางเข้าไป จากการบอกเล่าของคนท้องถิ่นที่คอยนั่งอยู่หน้าด่านว่า พม่า ไม่ยอมให้เราปรับปรุงเจดีย์สามองค์ แผงขายของมีของทุกอย่าง เพชร พลอย บุหรี่หนีภาษีเข้ามาขายที่ด่านเจดีย์สามองค์
         ร้านค้า ที่เคยขายอาหาร ริมถนนตรงข้าม เจดีย์สามองค์ ก็ถูกย้ายไปอยู่ด้านในหมดความเจริญด้านวัสดุมีตลอดเส้นทาง ในปัจจุบัน มีด่านทหารหลายด่านที่คอยตรวจรถยนต์ ที่กลับจากเจดีย์สามองค์ กลับจากสังขละดีที่สุดพกแต่เงินไปเที่ยวอย่าพกอย่างอื่นไป หรืออย่าไปซื้อของเถื่อนติดรถกลับมา
         การไปเที่ยวที่เหมืองปิล๊อก ถึงแม้ว่าถนนจะดีบ้างบางส่วน แต่ขับรถยนต์ลำบากมาก ถนนแคบอาหารแพง ส่วนที่สังขละ มีถนนดี แต่ขึ้นเขาลงเขา อันตรายแม้จะไม่เท่าปิล๊อกแต่ก็น่ากลัวถ้าจะไปด้วยรถยนต์ส่วนตัว ต้องสำรวจ เบรก ครัช เกียร์ ยาง แต่ก็คุ้มการไปถึงเหมืองปิล๊อกถ้าจะไปเมื่อ 40 ปี ที่แล้ว เป็นเส้นทางที่โหดพอสมควร ทั้งเส้นไปปิล๊อก และเส้นไปสังขละ ไม่มีเงินที่จะยกโขยงไปต่างประเทศ เลยต้องเที่ยวแค่เมืองไทย