โบเดิร์น ทันโลก ไม่ทิ้งราก : แนวทางขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพ่อ

 

    เชียงราย - นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อเร็วๆนี้ ว่า กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 เป้าหมาย 300,000 ไร่ โดยมุ่งเป้าขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ 56,000 ไร่ ในปี 2564 โดยจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 27,700 ไร่ ขยายพื้นที่เป็น 44,700 ไร่ จังหวัดพะเยา 2,500 ไร่ เพิ่มเป็น 5,000 ไร่ จังหวัดแพร่ 1,500 ไร่เพิ่มเป็น 3,000 ไร่ และจังหวัดน่าน 1,700 ไร่เพิ่มเป็น 3,300 ไร่ โดยการลงนามดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมประกาศวาระจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัย เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร เพื่อให้ชาวเชียงรายได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพสะอาด ปลอดสาร

      “กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ จับมือเครือข่ายโรงเรียนชาวนา ไร่เชิญตะวันและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือตอนบนหลายเครือข่ายขยายผลเกษตรอินทรีย์ พร้อมมอบนโยบายข้าราชการกระทรวงเกษตรต้อง “โบเดิร์น” ซึ่งมาจากคำโบราณบวกโมเดิร์น มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ไม่ทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ดังนั้น การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ต้องยึดหลักการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลัก และยืนยันว่าเกษตรอินทรีย์ทำได้โดยต้นทุนต่ำกว่า แต่ต้องรู้ลึกซึ้งในศาสตร์พระราชา เช่น พูดถึงทฤษฎีใหม่ไม่ได้หมายถึงแค่เกษตรทฤษฎีใหม่ แต่หมายถึงทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี”

       นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า “นโยบายตลาดนำการผลิต ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาด สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ควรผลิตเพื่อป้อนตลาดชุมชนเป้นตลาดแรก ต่อมาคือโรงพยาบาลทุกระดับเป็นเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยได้บริโภคอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีผลงานวิจัยมากมายว่าอาหารเป็นยาที่ดีที่สุด แต่การผลิตอาหารที่ใช้สารเคมีจะทำลายความสมดุลของฤทธิ์ยาในพืชผักจนหมด ผักเป็นยาจึงต้องปลูกด้วยเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรประณีต โดยไม่ใช้สารเคมี สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ถ้าทำถูกต้องตามศาสตร์พระราชาจะมีต้นทุนต่ำ แต่ที่ผู้บริโภคยังซื้อหาด้วยราคาที่สูง เพราะเกษตรกรยังผลิตออกมาขายน้อย เป็นเพียงการปลูกไว้กินภายในครัวเรือน ซึ่งต้องช่วยกันขยายผลต่อไป”