สรรพคุณทางยา-ประโยชน์19ข้อของ"อังกาบหนู"

 

       อังกาบหนู มักพบขึ้นหนาแน่นเป็นวัชพืชอยู่ตามเขาหินปูนในที่แห้งแล้งทางภาคใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย รวมไปถึงภูมิภาคอินโดจีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria prionitis L.จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่น ว่า เขี้ยวแก้ง เขี้ยวเนื้อ อังกาบ มันไก่ เป็นต้น

      ลักษณะต้น เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นเกลี้ยง มีหนามยาวอยู่รอบข้อ      

      ใ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน เป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ยาว 4-12 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนใบเรียวสอบ ที่ปลายมีติ่งแหลม แผ่นใบมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาว  2.5 เซนติเมตร

      ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีใบประดับดอกรูปแถบยาว ใบประดับย่อยเป็นหนาม มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอกรูปปาก 5 กลีบ สีส้มหรือเหลือง มีเกสรตัวผู้ 2 ก้าน ติดอยู่ที่โคนกลีบดอก อังกาบไทย

      ผล เป็นแบบแคปซูล รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ที่ปลายเป็นจะงอย ด้านในมีผลมีเมล็ดแบน รูปไข่ ยาว 5-7 มิลลิเมตร 

      สรรพคุณและประโยชน์

1.ดอก,ราก นำมาตากแห้งปรุงเป็นยาสมุนไพร บำรุงธาตุในร่างกาย 

2.รากหรือใบใช้เป็นยาลดไข้

3.นำใบมาคั้นน้ำกินแก้หวัดได้

4.ช่วยขับเสมหะด้วยการใช้รากที่ตากแห้งแล้วนำมาต้มเป็นยาดื่ม 

5.ใบใช้เคี้ยวแก้อาการปวดฟัน

6.ใช้ใบผสมกับน้ำผึ้งช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน 

7.น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหู แก้หูอักเสบ

8.ใบต้มน้ำช่วยป้องกันและแก้อาการท้องผูก 

9.รากช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย 

10.ใบใช้แก้พิษงู 

11.ใบช่วยรักษาโรคคัน 

12.รากหรือใบใช้ผสมกับน้ำมะนาวช่วยรักษากลากเกลื้อน 

13.รากใช้เป็นยาแก้ฝี 

14.ทั้ง 5 ส่วนของต้นอังกาบหนูใช้เป็นยาแก้ไข้ข้ออักเสบ 

15.ใบช่วยแก้อัมพาต รักษาโรคปวดตามข้อ โรครูมาติซั่ม หรือใช้ทาแก้ปวดหลัง แก้ปวดบวม 

16.รากใช้เยียวยารักษาโรคมะเร็ง เนื้องอกในสมอง และเบาหวาน 

17.สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด 

18.น้ำคั้นจากใบสามารถใช้ทาแก้ส้นเท้าแตก

19.ปลูกเป็นไม้ประดับสวน เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม 

        ทั้งนี้ จากการเกิดกระแส"อังกาบหนูฟรีเวอร์"ทางสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคมะเร็งได้นั้น เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2561 ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ นำโดย นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้แถลงกรณีของอังกาบหนู ว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งที่เด่นชัด อย่างไรก็ตาม อาจเป็นผลดีกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะอีกกลไกสำคัญของสมุนไพรชนิดนี้คือ มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ช่วยลดปวดจากการอักเสบได้ พร้อมแนะควรบริโภคทีละน้อย และไม่ควรบริโภคต่อเนื่อง

        แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สารานุกรมพืช สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, www.sirisombon.com (ครูบาไตรภพ),