นายกฯ เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร

         นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติให้สามารถใช้ในการบรรเทาอุทกภัยของชุมพร และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค
         เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติให้สามารถใช้ในการบรรเทาอุทกภัยของชุมพรและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่
         นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวต้อนรับพร้อมรายงานว่า จังหวัดชุมพรเป็นประตูสู่ภาคใต้ มีประชากรทั้งสิ้น 510,594 คน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 70 ตำบล 737 หมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมีมูลค่า 82,250 ล้านบาท เป็นอันดับ 6 ของภาคใต้ ลำดับที่ 32 ของประเทศ ปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจจังหวัดชุมพร ได้แก่ ภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว โดยมีผลผลิตด้านการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา กาแฟ โดยในปี 2560 สามารถสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทเศษ ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนจังหวัดชุมพร ประมาณ 1,400,000 คน สร้างรายได้โดยรวมประมาณ 6,700 ล้านบาท
         สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริแห่งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสามารถบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองชุมพรมาเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว จนเป็นที่มาของคำว่า "ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น"
         นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำจังหวัดชุมพรว่า การไหลของน้ำจะเป็นการไหลจากพื้นที่ตะวันตกไปตะวันออกและไหลผ่านเส้นทางคมนาคม ทางรถไฟ และไหลผ่านชุมชน โดยจังหวัดชุมพรจะอยู่ใน 2 ลุ่มน้ำหลัก คือลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตกและภาคใต้ฝั่งตะวันออก และมี 8 ลุ่มน้ำย่อย ซึ่งในเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคมจังหวัดชุมพรจะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และจากเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีพายุทั้งพายุใต้ฝุ่นหรือพายุโซนร้อน เพราะฉะนั้นทั้งปีฝนเฉลี่ยสะสมของจังหวัดประมาณ 1,900 มิลิเมตร

         ปัญหาที่เกิดขึ้นของจังหวัดชุมพรคือ เรื่องอุกภัยที่จะมีน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะในปี 2532 จังหวัดชุมพรประสบปัญหาอุทกภัยจากพายุใต้ฝุ่นเกย์ และปี 2540 ก็ประสบพายุโซนร้อนซีต้า ด้วยปัญหาอุทภัยดังกล่าวกรมชลประทานได้น้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำใช้ฐานข้อมูลของพายุโซนร้อนซีต้า โดยใช้หลักการหาวิธีการตัดน้ำไม่ให้เข้าเมืองชุมพร เช่น ขุดคลองหัววัง-พนังตัก ขุดคลองเชื่อมให้คลองต่าง ๆ เชื่อมต่อกันเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหาที่พักน้ำและสามารถเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริแห่งนี้ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2541 และมีการดำเนินการเก็บรายละเอียดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2551 ทำให้ตั้งแต่ 2541 ที่ได้มีการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี ทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองชุมพรอีกเลย โดยตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน กรมชลประทานได้รับงบประมาณจากรัฐบาลดำเนินโครงการในจังหวัดชุมพรกว่า 34 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 725 ล้านบาท เช่น ขุดลอกหนองใหญ่ที่มีตะกอนตกจมเพื่อชดเชยความจุที่หายไป ทำพนังป้องกันตลิ่งของคลองหัววัง-พนังตัก รวมทั้งการปรับปรุง "ศูนย์เรียนรู้ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ" เป็นต้น
         ทั้งนี้ พื้นที่หนองใหญ่ อยู่ในเขตตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร รับน้ำจากคลองต่างๆ ที่อยู่รอบบริเวณหนองใหญ่ เช่น คลองละมุ ซึ่งรับน้ำจากคลองท่าแซะ คลองขี้นาค (ต้นคลองอยู่ในเขตตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ) และคลองกรูด (ต้นคลอง อยู่ในเขตตำบลสะพลี อำเภอปะทิว) ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ สามารถกักเก็บน้ำได้สุดสูง 3,000,000 ลบ.ม. และมีปริมาณ น้ำไหลเข้า 210 ลบ.ม./วินาที
         สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเมืองชุมพรและเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรกรรมและผลิตน้ำประปาสำหรับชุมชนในอนาคต จากการดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองชุมพร รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง และแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 3,000,000 ลบ.ม. นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โครงการฯ ยังเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์เรียนรู้ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ" เพื่อเป็นศูนย์ต้นแบบถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง