ผู้ว่าการเคหะฯ ชื่นชมบ้านเอื้ออาทร "โพธิ์เสด็จ" เป็นชุมชนเข้มแข็งน่าอยู่

         ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ชื่นชมสมาชิกโครงการบ้านเอื้ออาทรนครศรีธรรมราช 2 (โพธิ์เสด็จ) ระบุเป็นชุมชนเข้มแข็งน่าอยู่ ตื่นตัวในการมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อย่างเต็มที่มาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งที่เพิ่งเข้ามาอยู่อาศัยไม่นาน จนคว้ารางวัลประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ปี 2560 ประเภทอาคารแนวราบ
         ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวภายหลังจากการเยี่ยมชมโครงการบ้านเอื้ออาทรนครศรีธรรมราช 2 (โพธิ์เสด็จ) ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชว่า โครงการนี้เป็นบ้านแฝดสองชั้น ขนาด 21 ตารางวา จำนวน 412 หน่วย เริ่มบรรจุให้เข้าอยู่อาศัย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยเต็มโครงการ และเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง
         โดยยกตัวอย่างว่า ในปี 2554 ได้เกิดอุทกภัยขึ้นเป็นประสบการณ์ครั้งแรก แม้สมาชิกในชุมชนยังไม่สนิทกันมากนัก แต่ก็ร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นกลุ่มจิตอาสาตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อเกิดอุทกภัยอีกครั้งเมื่อปี 2560 ทำให้สมาชิกในชุมชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และร่วมมือช่วยเหลือกันและกัน โดยมองว่าภาวะน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติ ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกันได้
         "เป็นชุมชนน่าอยู่อาศัย และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่การเคหะแห่งชาติถือเป็นหลักสำคัญ" ดร.ธัชพลกล่าว
         โครงการบ้านเอื้ออาทรนครศรีธรรมราช 2 (โพธิ์เสด็จ) เป็น 1 ใน 6 โครงการที่การเคหะแห่งชาติจัดสร้างที่อยู่อาศัยใน จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งหมด 2,527 หน่วย ประกอบด้วย โครงการอาคารเช่า โครงการเคหะชุมชน และโครงการบ้านเอื้ออาทร
         ในขณะที่ นายจิตตกร อินทร์จันทร์ ประธานชุมชนโครงการบ้านเอื้ออาทรนครศรีธรรมราช 2 (โพธิ์เสด็จ) กล่าวว่า ผู้อาศัยในโครงการมีประมาณ 1,600 คน จัดตั้งเป็น "ชุมชนเคหะเอื้ออาทรสะพานยาว" เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2555 บริหารจัดการชุมชนโดยคณะกรรมการชุมชนจำนวน 11 คน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนคือได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2560 ประเภทอาคารแนวราบของการเคหะแห่งชาติ
         นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นสร้างศักยภาพการเป็นผู้นำรุ่นสู่รุ่นและมีเป้าหมายพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ของพื้นที่เทศบาลนคร รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในชุมชนด้านกายภาพ ความสะอาด ปลอดภัย น่าอยู่อาศัยโดยมีการบริหารชุมชน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม