หนองคายจัดระบบน้ำเกษตรทะลุ 1 หมื่นไร่

หนองคายจัดระบบน้ำเกษตรทะลุ 1 หมื่นไร่
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         หนองคายจัดรูปที่ดิน-จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมทะลุ 10,000 ไร่ และยังขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จโครงการจัดรูปที่ดินบ้านคุยลุมพุก อ.โพนพิสัย จำนวน 1,750 ไร่ ส่วนปี 2562-2563 ยังมีโครงการก่อสร้างอีก จำนวน 3,700 ไร่
         พื้นที่ของภาคอีสานเป็นที่ราบสูงและมักอยู่สูงกว่าลำน้ำ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรต้องใช้วิธีสูบน้ำ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งในการผลิต
         บ้านคุยลุมพุก ต.ชุมช้าง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ปกติอาศัยน้ำจากห้วยหลวง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ จ.อุดรธานี ไหลผ่าน จ.หนองคาย ลงสู่แม่น้ำโขง เกษตรกรแถบนี้ทำนาเป็นหลัก แต่ผลผลิตค่อนข้างต่ำ 350 -400 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งฟ้องในตัวว่า ถึงจะมีสถานีสูบ แต่ใช่ว่าจะเข้าถึงน้ำได้อย่างทั่วถึง

         นางมณี วงศ์ษาพาน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 10 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินฯ ได้เข้าไปจัดรูปที่ดินในพื้นที่บ้านคุยลุมพุก จำนวน 1,750 ไร่ เกษตรกรเจ้าของแปลงที่ดิน 69 ราย เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้เกษตรกรอยู่ระหว่างการทำนา ซึ่งยังคงใช้น้ำฝนเป็นหลักเพราะอยู่ในช่วงฤดูฝนพอดี
         ถือเป็นแปลงจัดรูปที่ดินฯ แห่งแรกของ จ.หนองคาย ที่ใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพราะแปลงที่จัดแล้วเป็นการส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงโลก
         แรกเริ่มจัดรูปที่ดิน ได้นำเกษตรกรบางส่วนไปดูงานพื้นที่จัดรูปที่ดินต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จำนวน 8,700 ไร่ โดยอาศัยน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยบังพวน ซึ่งมีความจุอ่างเก็บน้ำ 8.6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต่างกันตรงที่เป็นการส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งประหยัดค่าสูบน้ำได้มาก
         "เกษตรกรสนใจ เพราะสะดวก มีทางเข้า-ออก ไม่ต้องแบกปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตเข้าไป หรือแบก ผลผลิตออกมา สามารถขับรถเข้าถึงแปลงได้เลย ระบบน้ำก็เหมือนกัน มีคูน้ำส่งน้ำถึงที่และท้ายแปลงก็มีคูระบายน้ำ"

         นางมณีเล่าว่า เกษตรกรที่กลับมาก็ขยายผลด้วยการบอกเล่าสิ่งที่เห็นให้เพื่อนๆได้รับรู้ ประกอบกับ สำนักงานจัดรูปที่ดินฯ เองได้จัดอบรม สร้างการรับรู้เรื่องการจัดรูปที่ดินจนเกษตรกรเข้าใจ ยินยอมเข้าร่วมโครงการ
         "เกษตรกรตัดพ้อเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน แต่เราบอกว่าได้มากกว่าเสียและได้ถึงชั่วลูกหลาน แกนนำสำคัญในหมู่บ้านเห็นด้วย ทั้งนายกฯ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีโอกาสไปดูงานจัดรูปที่ดินในหลายพื้นที่มาก่อนแล้ว"
         แม้จะใช้ระบบสูบน้ำด้วยกระแสไฟฟ้าเหมือนกัน แต่เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายจะต่างกัน "เราก็บอกไปว่า ถ้าสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบเดิม ผ่านแปลงอื่นหรือจะมีคูดินก็ล้วนเสียเวลามากกว่า สู้แบบใหม่ไม่ได้ ใช้เวลาน้อยสูบแล้วส่งน้ำเข้าคูดาดคอนกรีตถึงแปลงเร็วกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ค่าใช้จ่ายสูบน้ำต้องถูกกว่ามันชัดเจนอยู่แล้ว"
         ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีเกษตรกรบางรายมีที่ดินร่วม 200-300 ไร่ กลับตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการจัดรูปที่ดินฯ แต่พอเห็นรูปร่างแปลงในโครงการฯ หลังจัดรูปที่ดินฯ เสร็จแล้ว กลับมาบอกว่า จะขอเข้าร่วมโครงการอีกได้ไหม
         "นายช่างบอกว่า หมดบุญแล้ว" หมายถึงหมดโอกาสได้รับสิ่งดีๆ จากการจัดรูปที่ดินฯ ซึ่งไม่รู้ว่าจะหวนกลับมาจัดใหม่อีกเมื่อไหร่

         นางมณีกล่าวว่า เกษตรกรเพิ่งปลูกข้าวเป็นครั้งแรกหลังจัดรูปที่ดินฯ เสร็จ ซึ่งคาดว่าหากไม่มีเหตุการณ์อื่น ผลผลิตข้าวโดยเฉลี่ยจะมากกว่าที่เกษตรกรเคยผลิตได้ไร่ละ 350-400 กิโลกรัม เพิ่มเป็นไร่ละ 500 - 600 กิโลกรัมแน่นอน เพราะน้ำเข้าถึงทุกแปลง ในขณะของเดิมถึงบ้างไม่ถึงบ้าง
         การจัดรูปที่ดินก็ดี การจัดระบบน้ำก็ดี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยกระบวนการแพร่กระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพผ่านคูส่งน้ำที่ไปถึงทุกแปลง สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 10 วางแผนในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยในปี 2562 จะดำเนินการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ ต.หินโงม อ.เมือง จ.หนองคาย ระยะที่ 1 จำนวน 1,700 ไร่ จากพื้นที่ประมาณ 4,000-5,000 ไร่
         ในปี 2563 วางแผนจัดรูปที่ดินจำนวน 2,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านโนนหนามแท่ง ต.ชุ่มช้าง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งเป็นแปลงที่อยู่ใกล้เคียงกับแปลงที่เพิ่งจัดเสร็จไปเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้นั่นเอง
         "ยังมีความต้องการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเสมอ สังเกตได้เวลาลงพื้นที่ ชาวบ้านจะถามเลยว่า เมื่อไหร่จะมาจัดรูปหรือจัดระบบน้ำ เพราะเขาเห็นตัวอย่างจากโครงการที่ทำไปแล้ว ได้ผลลัพธ์ชัดเจนทั้งความสะดวก เรื่องน้ำ เรื่องเส้นทางสัญจรเข้าแปลง รวมถึงต้นทุนการผลิต" นางมณีกล่าว

         สำหรับพื้นที่ จ.หนองคาย ถือเป็นแปลงจัดรูปที่ดิน-จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะมีหลากหลายระบบ บางแห่งเคยมีระบบคันคูน้ำซึ่งเป็นระบบจัดระบบน้ำปัจจุบัน แล้วเปลี่ยนมาจัดรูปที่ดิน มีแปลงจัดรูปที่ดินใหม่และใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และแปลงจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม
         ดังนั้นแม้จะมีข้อจำกัดทางภูมิประเทศ แต่เกษตรกรก็มีทางออกด้วยการจัดรูปที่ดินหรือจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมได้เสมอหากมีแหล่งน้ำต้นทุน ทำให้ขณะนี้ จ.หนองคาย มีพื้นที่จัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำมากกว่า 10,000 ไร่ และยังมีแผนขยายอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 นอกจากนี้ได้จัดทำแผนระยะยาว 10 ปี อีกหลายพื้นที่ นับว่าการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทานที่เห็นผลชัดเจน