เตรียมรื้อ "มิลค์บอร์ด" ให้กรมปศุสัตว์คุมแทน อ.ส.ค.

         เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายผู้แทนสหกรณ์ทั่วประเทศว่า สหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมโคเข้าโครงการนมโรงเรียนต้องผลิตนมให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) โดยจะต้องมีปริมาณของแข็งในน้ำนม (Total Solid) สูงตามเกณฑ์และมีค่าจุลินทรีย์ในน้ำนมต่ำ (Somatic Cell)
         รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เชิญผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนมาชี้แจงถึงนโยบายการจัดสรรสิทธิ์การจำหน่ายนมโรงเรียน จากนี้ไปจะต้องพิจารณาอย่างโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต หรือจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใด และกำชับให้คัดสรรนำน้ำนมดิบคุณภาพสูง เพื่อจะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์และนมยูเอชทีที่ได้มาตรฐาน ดูแลการขนส่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดการกระแทกจนบรรจุภัณฑ์ฉีกขาดทำให้นมบูด พร้อมได้ย้ำผู้ประกอบการให้จัดหาน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมที่ได้รับการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์ว่ามีคุณภาพตามข้อกำหนดมาให้เพียงพอ หากพบมีการนำน้ำนมจากแหล่งที่ไม่ได้รับการรับรองและคุณภาพต่ำ จะพิจารณาตัดสิทธิ์อย่างเด็ดขาด
         "ขณะนี้ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนชื่อจาก โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นโครงการอาหารเสริมสำหรับเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้งประเทศมีโอกาสได้ดื่มนมซึ่งมีแคลเซี่ยมสูงช่วยบำรุงกระดูกและฟัน รวมถึงมีคุณค่าทางอาหารสูง บำรุงสมองให้เด็กฉลาด" นายกฤษฎา กล่าว

         ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุศัตว์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กล่าวว่า ได้ปรับปรุงมาตรการการป้องกันการทุจริตโครงการอาหารนมโรงเรียนเสนอต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อให้เป็นตามข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
         ทั้งนี้ตามข้อเสนอแนะระบุว่า
         1.ให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักตรวจสอบ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานนมโรงเรียน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง
         2.ให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารนมโรงเรียน โดยให้ทบทวนบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
         3.เสนอให้พิจารณาทบทวนระยะเวลาการจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นระยะเวลาคาบเกี่ยวภาคการศึกษาที่ 2 ทำให้เมื่อรจัดสรรสิทธิ์แล้ว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิทธิ์การจำหน่ายได้ โดยมิลค์บอร์ดมีความเห็นว่าควรมีการ MOU เป็นรายภาคการศึกษาแทนการทำเป็นรายปีการศึกษา
         4.การปรับปรุงจัดการระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งนมโรงเรียน ตามที่มีข้อหารือในมิลค์บอร์ดก่อนหน้านี้ว่า ไม่สมควรให้มีการจัดซื้อน้ำนมดิบข้ามเขต ซึ่งจะดำเนินการโดยกำหนดเรื่องการขนส่งเป็นลำดับแรก เพื่อรักษาคุณภาพน้ำนม
         5.กระทรวงเกษตรฯ ต้องพิจารณาทบทวนแก้ไข และเพิ่มอัตราโทษของความผิดผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามประกาศหลักเกณฑ์นมโรงเรียนตามประกาศของมิลค์บอร์ด
         6.ให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณากระบวนการจัดซื้อนมโรงเรียน โดยให้โรงเรียนเป็นผู้สั่งซื้อโดยตรงผ่านระบบการจัดซื้อด้วยระบบการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แทนวิธีการจัดซื้อแบบพิเศษที่ผ่านมา
         7.ให้พิจารณาทบทวนและองค์ประกอบของมิลค์บอร์ด โดยให้ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน
         นอกจากนี้ ยังพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ของมิลค์บอร์ด ตามข้อสั่งการของนายกฤษฎา ให้มิลค์บอร์ดเร่งดำเนินการปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลโครงการนมโรงเรียนให้ทันภาคเรียนที่ 2 ปี 2561 โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลว่าเกษตรกร 19,000 ราย ขายนมได้ราคาเป็นธรรม นักเรียน 7.450 ล้านคน ได้ดื่มนมในเวลา 260 วันต่อปี และผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรสิทธิ์อย่างโปร่งใสเป็นธรรม ทั้งนี้ปีการศึกษา 2561 มีผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรสิทธิ์ในโครงการนมโรงเรียน 62 ราย จำนวน 68 โรงงาน