สภาเกษตรกรฯ เพิ่มมูลค่าถ่าน 400 เปอร์เซ็นต์ ด้วย "ไวท์ชาโคล" (ชมคลิป)


          นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรฯได้ส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกไผ่ ด้วย "ไผ่" มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมากกว่าไม้ชนิดอื่น อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง งานหัตถกรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เฟอร์นิเจอร์ และจากการวิจัยพบว่าไผ่มีรูพรุนมากกว่าไม้ชนิดอื่นประมาณ 10 เท่า ประโยชน์ของการมีรูพรุนมากจะช่วยดูดซับอนุมูลทั้งหลายได้มากขึ้น และขณะนี้สภาเกษตรกรฯมาถึงขั้นการพัฒนาต่อยอดทำถ่านขาวหรือ "ไวท์ชาโคล (White Charcoal)" ซึ่งเป็นถ่านคุณภาพเพื่ออุตสาหกรรมอีกเกรดหนึ่ง

         หากถ่านคุณภาพสูงจะมีคาร์บอนที่มีการนำไฟฟ้าที่ดีวัดได้จากค่าการนำไฟฟ้าหรือโอห์มมิเตอร์จะต่ำประมาณ 2-4 โอม เป็นอุตสาหกรรมอีกหนึ่งแขนงที่สภาเกษตรกรฯจะผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขในเรื่องกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถแปรรูปไผ่ของตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรเผาถ่านเพื่อใช้ในการหุงต้ม ทำอาหารหรือปิ้งย่างทั่วไปหากมีการพัฒนาผลิตเป็นถ่าน "ไวท์ชาโคล" เวลาปิ้งย่างจะไม่มีควันและสารพิษ ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ที่ส่งเสริมร้านปิ้งย่างให้ใช้ถ่านไวท์ชาโคลจึงไม่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ประกอบกับขายได้ราคาดีกว่าถึงกิโลกรัมละ 40-50 บาท ขณะที่ถ่านเผาธรรมดาขายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 10-15 บาท

         ทั้งนี้ ถ่าน "ไวท์ชาโคล" เกิดจากการนำไม้ไผ่ไปผ่านการเผาในอุณหภูมิความร้อนที่สูงมาก ผลถ่านที่ได้สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานพัฒนาขึ้นด้วยมุ่งหวังให้เป็นผงถ่านไผ่เผาคุณภาพสูง การเผาด้วยคุณภาพสูงจะได้ผงคาร์บอนที่บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเจือปนไม่มีสารตกค้างซึ่งจะมีผลต่อมนุษย์ เช่น สารก่อมะเร็ง พยายามทำให้ถ่านเกิดความบริสุทธิ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อคุณสมบัติในการช่วยลดความชื้น ดูดซับอนุมูลอิสระ กลิ่น เป็นถ่านขาวเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพเกรด A ที่ใช้เพื่อแท่งกรองน้ำ ไส้กรองอากาศ ถ่านไฟฉาย จนถึงอุตสาหกรรมอุปโภค/บริโภค เพื่ออาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เป็นต้น

         อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกษตรกรไทยยังไม่มีการผลิตถ่านคุณภาพสูงเพื่ออุตสาหกรรมเพราะเกษตรกรยังไม่มีความรู้ ซึ่งสภาเกษตรกรฯเก็บรวบรวมความรู้ ทดลองอยู่นานหลายปีและนับเป็นครั้งแรกที่สภาเกษตรกรฯส่งเสริมเกษตรกรผลิตถ่านคุณภาพสูงเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้นำร่องเผาถ่านคุณภาพสูงด้วยเตาเผา 2 เตา และอยู่ระหว่างการปรับให้เป็นมาตรฐานที่ดีขึ้นและนิ่งมากขึ้น รวมทั้งเก็บรวบรวมความรู้ทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อไปในอนาคต

         "จากนี้ไปประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ ยุคที่เกษตรกรสามารถจะเป็นผู้ประกอบการได้ ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงขึ้น ได้ราคาสูงขึ้นและเกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น หากประเทศไทยเผาถ่านคุณภาพสูงเช่นไวท์ชาโคลซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศตะวันออกกลาง เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาลจากอุตสาหกรรมพลังงาน พี่น้องเกษตรกรถ้าสนใจควรทดลองจากเล็กไปหาใหญ่ หากคิดไปถึงเรื่องของการทำถ่านกัมมันต์, ถ่านแอคติเวเตทคาร์บอน, ถ่านไวท์ชาโคลจะต้องใช้ความรู้เชิงขั้นตอน(Know-how)มากขึ้น ลงทุนมากขึ้น ให้เริ่มจากไม่รู้ไปสู่สิ่งที่ต้องรู้ อย่าเริ่มต้นจากสิ่งที่ใหญ่ไปหาเล็กซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่จริงจะเกิดปัญหาตามมามากมาย อาจจะล้มเหลวได้ ถ้าลงทุนใหญ่ๆก็ไม่เห็นด้วย ให้ศึกษาก่อน" นายประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย