เมื่ออาจารย์ยักษ์ ลุกขึ้นปฏิวัติการประชุมส่วนราชการ

เมื่ออาจารย์ยักษ์
ลุกขึ้นปฏิวัติการประชุมส่วนราชการ

         กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น่าจะเป็นกระทรวงแรกของประเทศไทยที่ปฏิรูปการประชุมผู้บริหารส่วนราชการ จากการประชุมที่เป็นทางการ ซึ่งนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงบอกว่า เป็น Passive Meeting ที่มีบรรยากาศน่าเบื่อหน่าย
         แนวทางใหม่ของเขาคือ Active and Creative Meeting ซึ่งมีบรรยากาศการประชุมที่คึกคักและสร้างสรรค์
         เรียกว่า ปฏิวัติการประชุมส่วนราชการก็ว่าได้
         ประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ห้องประชุมกรมส่งเสริมสหกรณ์ แถวถนนพิชัย สร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้บริหารส่วนราชการ ระดับอธิบดี รองอธิบดี โดยปกติห้องประชุมจะมีโต๊ะ พร้อมป้ายชื่อ แต่ห้องประชุมนี้กลับไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ยกเว้นเก้าอี้อย่างเดียว ผู้ติดตามถามว่าจะให้อธิบดี รองอธิบดี นั่งตรงไหน ได้รับคำตอบว่า นั่งตรงไหนก็ได้
         โดยบรรดาอธิบดี รองอธิบดี นั่งแถวหน้าสุดเป็นรูปตัว U และมี รมช.วิวัฒน์ นั่งกลางโค้งตัว U

         ด้านหน้าห้องประชุมมีนิทรรศการจัดบอร์ดนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่จะประชุมจัดวางเอาไว้ ถัดไปเป็นห้องประชุม ที่นอกจากเก้าอี้จัดรูปตัว U แบบง่ายๆ แล้ว มีบอร์ดแปะด้วยกระดาษเปล่า สำหรับวาดและเขียนด้วยมือสรุปประเด็นและความเชื่อมโยงในเรื่องที่พูดถึง
         ใครเคยสัมผัสการประชุมแบบมีส่วนร่วมจะชินตากับรูปแบบนี้ แต่คนที่ไม่เคยเป็นเรื่องใหม่มาก และอาจมีคำถามในใจตามมามากมาย
         นโยบายของ รมช.วิวัฒน์ ต้องการให้การประชุมมีข้าราชการ 3 กลุ่ม ช่วงอายุคน (Generation) เข้าร่วมประชุม แทนที่จะมีเฉพาะอธิบดีหรือรองอธิบดี (Generation Baby Boomer) ก็จะเป็นข้าราชการระดับกลาง (Generation X) และระดับปฏิบัติงาน (Generation Y) เพื่อให้เป็นการประชุมแบบมีส่วนร่วมจริงๆ และได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อหาข้อสรุป
         การบ้านของ รมช.เกษตรฯ คือทำอย่างไรจะบูรณาการการทำงานระหว่างกรมต่างๆ ภายใต้กำกับของตัวเองให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่กระทรวงกำหนดไว้ 31 โครงการ
         แต่จู่ๆ จะนำ 3 Gen มาประชุมร่วมกันเลยดูประดักประเดิด จึงดึงข้าราชการ Gen Y ซึ่งแต่ละกรมฯ ส่งมาประสานงานที่กระทรวงเกษตรฯ อยู่แล้ว แล้วมอบประเด็นการบ้านให้ล่วงหน้าเพื่อไปหาคำตอบ โดยสามารถขอความคิดเห็นจากใครก็ได้ ทั้งอธิบดี รองอธิบดี หรือใครอื่น
         Gen Y แทนที่จะเข้าร่วมประชุมเฉยๆ จึงกลายเป็นผู้นำเสนอ ด้วยประมวลและสังเคราะห์ความคิดจากโจทย์ที่รับมา หนึ่งในนั้นมีโจทย์ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มานำเสนอ

         รมช.วิวัฒน์ทำหน้าที่เป็นวิทยากรการมีส่วนร่วม (Facilitator) ซึ่งเจ้าตัวเคยทำมาอย่างเชี่ยวชาญ สร้างการมีส่วนร่วมโดยให้ทุกคนในห้องประชุม ตั้งแต่อธิบดีลงมา แสดงความเห็นต่อการกู้ชีวิต 13 หมูป่า แล้ว รมช.วิวัฒน์ ก็เป็นผู้สรุป
         การเข้าไปถ้ำเพื่อปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่า เมื่อพบ 13 ชีวิตแล้ว ถือว่าประสบผลสำเร็จตาม KPI (Key Performance Indicator) ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่พอ หากยังต้องนำ 13 คนกลับออกมาจากถ้ำให้ได้
         เปรียบเปรยว่า ข้าราชการทุกวันนี้ทำเพียงเพื่อเป้าหมาย KPI ซึ่งยังไม่พอ ยังจะต้องเป็น KPO (Key Performance Objective) คือยังต้องพาออกมานอกถ้ำได้ด้วย จึงจะได้ชื่อว่าทำงานสำเร็จ
         การทำงานแบบนี้เป็นเสมือนกับดัก ไม่อาจออกจากถ้ำได้ KPI หมูป่าก็คล้ายกับการแก้ไขปัญหาเกษตรกรแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาหนี้สิน กระทรวงเกษตรฯ พยายามช่วยโดยระดมสารพัดหน่วยงานลงไป ต่างคนต่างทำตามภารกิจที่รับมอบหมาย ได้ KPI จนหมดสิ้น แต่เกษตรกรแม่แจ่มยังยากจนด้วยหนี้สินพอกพูน
         "เหมือนเสร็จ แต่ไม่สำเร็จ" ใครคนหนึ่งพูดเบาๆ แต่ได้ความชัด เห็นภาพทันที

         ความสำเร็จของแม่แจ่ม โดยข้าราชการตามลำพังไม่สำเร็จ หากยังต้องมีปัจจัยชี้ขาดคือเกษตรกรต้องรับรู้ปัญหา ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา หรือเป็นอาการระเบิดจากภายใน จึงมีรายได้ดีขึ้น และค่อยๆ ชำระหนี้จนเหลือน้อยลง
         การแก้ไขปัญหาเกษตรกรของกระทรวงเกษตรฯ ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากส่วนราชการต่างๆ และต้องให้เกษตรกรตื่นรู้ ตื่นคิด ในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองด้วย นอกเหนือการพึ่งพารัฐในส่วนที่เกินกำลังตัวเองและต้องไม่เป็นการพึ่งพาแบบประชาสงเคราะห์ ซึ่งไม่ช่วยให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาได้เลย
         รมช.วิวัฒน์ไม่ได้เป็นวิทยากรการมีส่วนร่วมในการประชุมนี้โดยลำพัง ตรงข้าม ยังมีทีมงานเข้าร่วมด้วยตามรูปแบบการจัดเวทีการมีส่วนร่วมตามชุมชนต่างๆ
         คาดหมายว่า ข้าราชการระดับสูงที่เข้าร่วมประชุมแนวใหม่ น่าจะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากเหตุปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นต้นตำรับการประชุมแบบมีส่วนร่วม อย่าง รมช.วิวัฒน์ จะอยู่ในตำแหน่งอีกกี่นาน ในขณะ รมช.วิวัฒน์ อาจต้องการเพียงปักหมุดในกระทรวงไปก่อน

         กระบวนการมีส่วนร่วมเช่นนี้ ขณะนี้ มีกรมชลประทานอยู่กรมเดียวที่ดำเนินการภายใต้ "กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน" โดยการสร้างวิทยากรการมีส่วนร่วม (Facilitator) ภายในกรมฯ และส่งกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยสังกัดในต่างจังหวัด เพื่อทำหน้าที่จัดตั้งคณะกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนส่วนราชการจากหน่วยต่างๆ และเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีความกระตือรือล้น มีภาวะผู้นำ ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติจน คสป. เข้มแข็ง จากนั้นจึงส่ง คสป. เข้าไปจัดเวทีการมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่มีปัญหาต่อไป
         ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมนี้จะเห็นการระเบิดจากภายใน ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด เกาถูกที่คัน และพัฒนาความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรต่อไป
         "การที่รัฐมนตรีลงทุนจัดประชุมแบบการมีส่วนร่วมเอง อย่างน้อยกระตุ้นให้ผู้นำหน่ายงานระดับกรมฯ กลับไปคิดถึงวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเกษตรกรแบบบูรณาการ โดยลงไปสัมผัสรับทราบปัญหาและความต้องการของเกษตรกร มากกว่าขับเคลื่อนด้วยความคิดของหน่วยงานราชการโดยลำพัง"