ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกร3ปี-รัฐจ่ายดอกแทน 1.6 หมื่นล้านบาท

 

     ทำเนียบฯ 31 ก.ค. - นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการลดภาระหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเกษตรกรรายย่อย และบรรเทาทุกข์ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  

        สำหรับมาตรการประกอบด้วย 2 โครงการ คือ โครงการขยายเวลาการชำระต้นเงินกู้  3 ปี ตามความสมัครใจให้แก่เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กลุ่มเป้าหมาย คือเกษตรกรรายย่อยลูกค้า ธ.ก.ส.ทั้งหมด 3.81 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมเกษตรกรประมาณ 10 ล้านคน แต่ไม่รวมเกษตรกรลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล พักหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ผู้ที่มีหนี้เกินได้รับสิทธิ์เฉพาะหนี้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีเงื่อนไขอย่างน้อยจะต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1 ครั้ง หรือในกรณีมีภาระเงินกู้เป็นภาระหนักให้ดำเนินการตามโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นรายๆไป นอกจากนี้ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.จะได้รับสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ สินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างการผลิต หรือสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจัดหาปัจจัยการผลิตได้อีกด้วย  

        ส่วนโครงการที่ 2 คือ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี นาน 1 ปี  เกษตรกรที่มีสิทธิ์ คือ ผู้ที่มีต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทเท่านั้น โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรร้อยละ 2.5 ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระแทนร้อยละ 0.5 ต่อปี ใช้งบดำเนินการ วงเงินรวม 16,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อนุมัติงบประมาณดำเนินการ 2 เดือนแรก คือ ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 จำนวน 2,724.85 ล้านบาท โดยใช้งบกลางปีงบ 2561 สำหรับส่วนที่เหลือ 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะต้องใช้วงเงินอีก 15,380 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีต่อไป