ก.เกษตรฯ จับมือ GISTDA และ ม.ฮอกไกโด รุกเกษตรอัจฉริยะ

         กระทรวงเกษตรฯ รุกเกษตรอัจฉริยะ จับมือ GISTDA และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ร่วมพัฒนาด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มุ่งยกระดับการพัฒนาศักยภาพการเกษตรไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561
         นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทย และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ณ อิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ว่า ทั้งสามหน่วยงาน ได้เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ และการดำเนินงานจัดทำความร่วมมือด้านการวิจัยและกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกันภายใต้หลักการต่าง 8 ด้าน ได้แก่
         1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ อาทิ การพัฒนาข้อมูลสถานะของพืช โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม และการพัฒนาข้อมูลสภาพภูมิอากาศและระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานในแปลง
         2) การจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร รวมถึงผลที่ได้รับจากการพัฒนาดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร
         3) การพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ
         4) การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะในด้านการผลิต การอารักขาพืช และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป เช่น ชุดปฏิบัติงานอัจฉริยะ ชุดปฏิบัติงานผ่อนกำลัง เครื่องจักรกำจัดวัชพืชแบบใช้สมองกลฝังตัว เครื่องพ่นสารเคมีแบบใช้สมองกลฝังตัว รถแทรกเตอร์อเนกประสงค์แบบใช้สมองกลฝังตัว เครื่องจักรกลเกษตรที่ใช้ระบบดาวเทียมระบุตำแหน่งบนโลก (GNSS) รวมทั้งเทคโนโลยีในการยืดอายุความสดในผักและผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว และเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผล เป็นต้น
         5) การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลเกษตรแบบใช้สมองกลฝังตัว อาทิ การใช้แทรคเตอร์ไร้คนขับ ควบคุมโดย GNSS เช่น ระบบของประเทศญี่ปุ่น QZSS
         6) การจัดสัมมนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการด้านการเกษตรอัจฉริยะ
         7) ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสามฝ่าย ให้ความสนใจร่วมกัน
         8) ความร่วมมือในกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถของนักวิจัย โดยการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย การศึกษาดูงานของนักวิจัย การร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางเทคนิค และการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เป็นต้น

         "กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายรัฐบาล สอดคล้องตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งยกระดับการพัฒนาศักยภาพของประเทศหลากหลากมิติในทุกรูปแบบและทุกระดับ การขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร สร้างความมั่นคงให้แก่ภาคเกษตรที่อยู่บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทางเกษตร ปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรสมัยใหม่และการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งอาศัยการบูรณาการวิทยาการหลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตแบบแม่นยำ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การใช้นวัตกรรมและเครื่องจักรกลเกษตรทันสมัย การบริหารจัดการฐานข้อมูลแบบอัจฉริยะ รวมทั้งต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลากรด้านวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" นายณรงค์ กล่าว
         นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายปรับรูปแบบเกษตรกรรม โดยส่งเสริมให้เกษตรกรนำวิทยาการ เทคโนโลยีการเกษตรเกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ในการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการเกษตร ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องจักรกลเกษตร เซนเซอร์เทคโนโลยี อาทิ ข้อมูลจากดาวเทียม และ UAV / ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GNSS / สถานีตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล อาทิ การติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก การคาดการณ์และเตือนภัยเพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิตพืชจากพิบัติภัยธรรมชาติและศัตรูพืช การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตร
         ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงฯ ได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการวางรากฐาน ระบบการทำการเกษตรอัจฉริยะได้อย่างเป็นรูปธรรม
ของประเทศไทย

         ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ GISTDA ร่วมประชุมหารือกับมหาวิทยาลัย Hokkaido ในกรอบความร่วมมือการบริหารจัดการด้านการเกษตรเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม Geo-informatics หรือเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยได้หารือแนวทางการพัฒนาร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลากร รวมทั้งตลอดจนด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งมหาวิทยาลัย Hokkaido มีความก้าวหน้าอย่างมากด้านการเกษตรอัจฉริยะในระดับโลก และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศ (Space Information Technology) โดยประสบความสำเร็จทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการในการบริหารจัดการเกษตรแบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของจังหวัดฮอกไกโด
         โดยในเวลาต่อมา ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันปฏิบัติการทดสอบรถแทรกเตอร์ไร้คนขับหรือ Unmanned tractor ในพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย ภายใต้โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะผลิตพืชเศรษฐกิจนำร่องในมันสำปะหลังและข้าวของเกษตรกร ที่จังหวัดนครราชสีมาและกำแพงเพชร ดำเนินการโดยคณะกรรมการโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการบูรณาการทำงานในรูปแบบประชารัฐ โดยมหาวิทยาลัย Hokkaido ได้ให้การสนับสนุน Prof. Dr. Noboru Noguchi ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart Agriculture มาร่วมปฏิบัติการ และสนับสนุนรถแทรกเตอร์ไร้คนขับ ให้ทดลองใช้ในโครงการฯ ดังกล่าวด้วย