เสนอ"อ้อย"พีชพลังงาน : แก้วิกฤติน้ำตาลโลกตกต่ำ-สร้างมั่นคงอาชีพ

 

       รุงเทพฯ - ชาวไร่อ้อยเตรียมถกปัญหาราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ฉุดราคาอ้อยฤดูผลิตปี 61/62 ดิ่ง 700 บาท/ตัน ผ่าทางตันเสนอเป็นพืชพลังงาน ให้ ปตท.ตั้ง รง.เอทานอลและรับซื้อเป็นวัตถุดิบ

       นายธีระชัย แสนแก้ว ที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ล่าสุด อยู่ในระดับ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้การส่งออกน้ำตาลของไทยทำได้ช้าและส่งออกได้ปริมาณน้อย ขณะที่ราคาตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง และผลจากการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพของชาวไร่อ้อย เนื่องจากขณะนี้ใกล้ที่โรงงานน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2561/2562 ซึ่งเกษตรกรกังวลและไม่แน่ใจว่าปริมาณอ้อยปีนี้ที่จะออกมามีมากถึง 131 ล้านตัน ชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยขั้นต้นตันละกี่บาท จะถึงตันละ 700 บาทหรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งสถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำจะส่งผลให้ปี 2562-2563 ผลผลิตลดลง เพราะเดือนตุลาคมปีนี้เกษตรกรบางส่วนเลือกที่จะไม่ปลูกอ้อย ทำให้อีก 1-2 ปี ปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงในที่สุด ขณะที่ชาวไร่อ้อยบางส่วนจะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่าแทน เช่น มันสำปะหลัง และในที่สุดมันสําปะหลังจะมีผลผลิตมากขึ้นจนทำให้ราคาตกต่ำลง ภาวะราคาตกต่ำหนุนเวียนเป็นวัฏจักรที่แก้ไขยาก

      ดังนั้น วันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จะจัดประชุมครั้งสำคัญที่พัทยา เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอผลการประชุมต่อภาครัฐต่อไป

      ทั้งนี้ ในการประชุม 4 องค์กรชาวไร่อ้อย จะเสนอแนวคิดลดการพึ่งพิงส่งออกน้ำตาล โดยขอให้ภาครัฐกำหนดให้อ้อยเป็นพืชพลังงาน และขอให้มีนโยบายให้บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ ปัจจุบันนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศปีละประมาณ 600,000 ล้านบาท แบ่งเงินจำนวนหนึ่งอาจ 200,000 ล้านบาท มาตั้งโรงงานผลิตเอทานอลและรับซื้อผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรมาผลิตเอทานอล แนวทางนี้จะช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับราคาขายอ้อยที่สมเหตุสมผล ช่วยลดผลผลิตอ้อยส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ขณะเดียวกันยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้อีก และอีกแนวทางหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ คือ ส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตเครื่องดื่มให้มีการนำน้ำตาลไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มและอาหารรูปแบบต่างๆ ส่งออกขายต่างประเทศมากขึ้น

       ส่วนผลกระทบจากการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการของภาครัฐหลังจากประเทศบราซิลขู่ว่าจะฟ้องร้องประเทศไทยต่อองค์การค้าโลก (WTO) ว่าอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ซึ่งเรื่องลอยตัวราคาน้ำตาลนี้เริ่มต้นปีนี้เป็นปีแรก กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเก็บเงินจากโรงงานที่ขายน้ำตาลไปต่างประเทศประมาณเดือนละ 800-1,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำมาใช้รักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยแบ่งสัดส่วนชาวไร่ร้อยละ 70 โรงงานร้อยละ 30 ซึ่งฤดูการผลิตปี 2560/2561 ชาวไร่อ้อยได้รับเงินเพิ่มค่าอ้อยรวม 4,300 ล้านบาทหรือตันละ 32.20 บาท โรงงานน้ำตาลได้ประมาณ 13 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำตาลโลกตกต่ำจะต้องหาหนทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไรให้โรงงานและชาวไร่อ้อยอยู่ได้ ซึ่งการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวไร่อ้อยจะหยิบยกขึ้นมาหารือด้วยเช่นกัน.