ฟื้นฟู-จัดระเบียบ"บึงราชนก"ขอแหล่งน้ำเก่าคืนมา

  

      ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเดียว แต่เจ้าภาพเกี่ยวข้องตามกฎหมายหลายหน่วยงาน ปัญหาจึงแก้ได้เฉพาะส่วนเฉพาะจุด เลยต้องอาศัยหน่วยงานกลางอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาทั้งระบบในท้ายที่สุด

ทั้งที่ สทนช.เป็นหน่วยงานจัดใหม่เมื่อปลายปี 2560 โดยดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาน้ำเป็นไปอย่างเป็นระบบและเบ็ดเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะกลาย เป็นโรคเรื้อรัง ดูดงบประมาณและบ่อนเซาะคุณภาพชีวิตผู้คนตลอดไป

         เพียงไม่กี่เดิอนที่ถือกำเนิด นอกจากมุ่งจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแล้ว ในทางปฏิบัติ สทนช.ยังต้องแก้ไขปัญหาค้างเก่าดังกรณีแม่น้ำพิจิตร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องมอบภารกิจการเป็นหน่วยงานน้ำแห่งชาติเข้าไปจัดการเมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม

         บึงราชนก จ.พิษณุโลก ก็เช่นเดียวกัน

         บึงราชนกครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล 2 อำเภอ ของ จ.พิษณุโลก ได้แก่ ต.สมอแข อ.เมือง และ ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พื้นที่บึงทั้งผืนดินและผืนน้ำ จำนวน 4,865 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของกรมเจ้าท่า ตั้งปี 2534 จำแนกการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ รวมพื้นที่รกร้าง 3,378 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 1,231 ไร่ พื้นที่ถนน 165 ไร่ และพื้นที่หน่วยราชการขอใช้ปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 90 ไร่ โดยตัวบึงมีความจุน้ำขณะนี้เพียง 2.67 ล้านลูกบาศก์เมตร

        ปี 2553 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำโครงการสำรวจสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนองบึงน้ำจืดของประเทศไทย (ภาคเหนือ) และได้กำหนดให้บึงราชนกเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี 

        แล้วก็เกิดประเด็นปัญหา เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า  มีการใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่ขอใช้ประโยชน์ในบึงราชนก  แล้วไม่บูรณาการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำในแบบบึงราชนกเดิม ส่งผลให้เกิดการบุกรุกที่ดินจากกลุ่มราษฎรเข้าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ คล้ายๆ กับบึงสาธารณะขนาดใหญ่หลายแห่ง

       สตง.มีความเห็นว่า พื้นที่บึงราชนกควรได้รับการฟื้นฟูเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สันทนาการเพื่อออกกำลังกาย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกันนั้น ให้ทุกส่วนราชการคืนพื้นที่ใช้ประโยชน์ และพิจารณาการใช้ประโยชน์เท่าที่จำเป็นจริงๆ

       “ท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม ได้ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาแผนการฟื้นฟูบึงราชนก ตามข้อเสนอแนะของ สตง. เมื่อเดือนธันวาคม 2560 และที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ สทนช. เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนกอย่างเป็นระบบและเพื่อความยั่งยืน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เล่าความเป็นมา

        ประเด็นสำคัญคือการใช้ประโยชน์พื้นที่บึงราชนกเมื่อปี 2535 จำนวน 5 หน่วยงาน

        1.องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ขอใช้พื้นที่ 2,466 ไร่ และใช้พื้นที่ไปแล้วครึ่งหนึ่ง 2.การกีฬาแห่งประเทศไทย 1,057 ไร่ แต่ไม่มีการพัฒนา และดูแลรักษาที่ดิน ทำให้ราษฎรในท้องถิ่นเข้าไปบุกรุกใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค และเป็ด เป็นต้น 3.มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอใช้พื้นที่ 1,000 ไร่ ใช้ไปแล้ว 35% เหลือพื้นที่ 650 ไร่ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และถูกราษฎรบุกรุกสร้างที่อยู่อาศัยกว่า 34 ไร่ 4.กรมประมง ขอใช้พื้นที่ 241 ไร่ มีการก่อสร้างอาคารปล่อยร้างและขุดบ่อไว้ 1 ไร่ 5.กรมเจ้าท่า ขอใช้พื้นที่ 100 ไร่

        รวมพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 4,865 ไร่ เท่ากับพื้นที่บึงทั้งหมด ทั้งส่วนที่เป็นผืนดินและผืนน้ำ เสมือนการตัดแบ่งก้อนเค้กอย่างไรก็อย่างนั้น การขอใช้ประโยชน์พื้นที่ง่ายกว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์คือแหล่งกักเก็บน้ำหรือแก้มลิงของเมืองพิษณุโลก ตรงกันข้าม ได้พื้นที่แล้วแต่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์หรือแม้กระทั่งแผนการใช้ที่ดินอย่างชัดเจน ซ้ำพื้นที่ดังกล่าวกลับขาดการดูแลจริงจัง ทำให้ราษฎรบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าก่อสร้างที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะก่อตัวกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ดังที่เกิดขึ้นในบึงสาธารณะขนาดใหญ่หลายแห่งมาแล้ว

        “สทนช.เข้าไปศึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนา และฟื้นฟูบึงราชนก โดยจัดระเบียบการใช้ที่ดินของส่วนราชการและประชาชนโดยรอบเสียใหม่ ให้หน่วยงานที่ประสงค์จะใช้พื้นที่ก็จะต้องมีแผนและใช้เท่าที่จำเป็น ที่เหลือควรคืนทำให้บึงราชนกเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดกลาง เป็นแก้มลิงสำหรับ อ.เมืองพิษณุโลก เพราะขณะนี้เส้นทางน้ำที่จะไหลเข้าบึงแทบจะไม่มี” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

        การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวจะครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเหมาะสม 2.การอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนา การปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบนิเวศทางน้ำ 3.การจัดองค์กรเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ 4.การติดตามประเมินผลและการตรวจสอบการดำเนินงานตามแผน

        จากการศึกษาแนวทางพัฒนาฟื้นฟูบึงราชนก 4 รูปแบบ จะเพิ่มความจุน้ำในบึงจากปัจจุบัน 2.67 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 6.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 10.24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12.23 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกภาคส่วนโดยรอบพื้นที่โครงการ

       ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบใด แต่บึงราชนกในอนาคตจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ 2.4 เท่า จนถึง 6.5 เท่า ซึ่งเท่ากับใช้ประโยชน์จากบึงได้มากขึ้นอย่างชัดเจน 

        บึงราชนก น่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูพัฒนาบึงน้ำจืดอย่างเป็นระบบ และมีการพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นทั้งแก้มลิงและปอดของเมืองพิษณุโลกในเวลาเดียวกัน