ไทยมีแล้ว "เวฟวอชสาม" โมเดลพยากรณ์คลื่นในทะเลจนถึงชายฝั่ง

         จากกรณีเกิดเหตุเรือล่มเมื่อเวลา 17.45 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริเวณเกาะเฮ และเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต กับเรือจำนวน 3 ลำ คือ เรือเซเนลิก้า เรือฟินิกซ์ และเจ็ทสกี ส่งผลให้มีผู้ประสบภัยกว่าร้อยราย สูญหาย 56 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
         ทางฝั่งนักวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ โศจิศุภร นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสต์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย "การพัฒนาและใช้ประโยชน์การพยากรณ์คลื่นในทะเล คลื่นชายฝั่งและพายุสำหรับประเทศไทย" สกว. เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้เป็นการนำเอาโมเดลที่มีชื่อว่า "เวฟวอชสาม" Wave Watch III ที่นักวิจัยจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) พัฒนาขึ้นมามาประยุกต์ใช้ในไทยจากที่ก่อนหน้านี้
         เราพยากรณ์คลื่นในทะเลจนถึงใกล้ฝั่งลึก 10 เมตร แต่ไม่สามารถทำนายคลื่นถึงชายฝั่งได้ แต่โมเดลตัวนี้สามารถพยากรณ์คลื่นในทะเลจนถึงชายฝั่งได้ ซึ่งเป็นประโยชน์และเพิ่มความปลอดภัยต่อการประมงชายฝั่ง การท่องเที่ยว สิ่งก่อสร้างตามชายฝั่งและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทย และเป็นการสร้างศักยภาพในการพยากรณ์เส้นทางพายุ โดยใช้แบบจำลองที่ยอมรับกันทั่วโลกมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในอ่าวไทยและทะเลอันดามันเป็นครั้งแรกของไทยนับตั้งแต่ปี 2559 อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยความที่คลื่นลมกรรโชกแรงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แม้จะเกิดในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งเพียง 7 กิโลเมตร จึงอาจส่งผลให้ไม่สามารถคาดเดาถึงคลื่นลมที่เกิดขึ้นได้ 100 %

         ด้าน นาวาโทวิริยะ เหลืองอร่าม กองอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ นักวิจัยในโครงการ เดียวกันกล่าวเสริมว่าในกรณีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มีการเผยแพร่คำเตือนที่ระบุไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์กองอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ http://www.rtnmet.org/ ของวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าจะเกิดคลื่นแรงในวันที่ 5-12 กรกฎาคม 2561 ให้ผู้เดินเรือพิจารณาประกอบการตัดสินใจ
         ทั้งนี้ข้อมูลพยากรณ์ดังกล่าวเป็นการสรุปผลมาจาก เวฟวอชสาม ที่พยากรณ์คลื่นลมในพื้นที่บริเวณมหาสุมทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย อ่าวไทยและทะเลอันดามัน ล่วงหน้า 7 วัน ตลอดจนทำนายเส้นทางพายุลมมรสุมตะวันออกฉียงเหนือของไทย ซึ่งปกติก็จะมีชาวประมง ผู้ประกอบการเรือ ส่วนใหญ่ใช้งานอยู่แล้ว หลังจากนี้จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการและชาวประมง ตรวจสอบข้อมูลการพยากรณ์