ประทับใจ อบต. พุคา-หนองเต่า ร่วมช่วยทีมหมูป่าติดถ้ำ ส่งเครื่องสูบน้ำพญานาคไปชุดแรกๆ

         เผยเจ้าของเครื่องสูบน้ำพญานาค ชุดแรก ของอบต. พุคา และหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ชุดแรกๆ ที่สูบน้ำในถ้ำเขาหลวง ขุนน้ำนางนอนบอก ขนไป 10 เครื่อง ผู้ว่าฯเชียงรายชอบใจ
         เปิดใจเจ้าของเครื่องสูบน้ำพญานาค ชุดแรกๆ ที่เข้าถ้ำเขาหลวง ขุนน้ำนางนอน ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ฤทธิ์ ทองดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ลพบุรีว่า ได้รับการประสานจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ซึ่งทราบจาก นายนพดล นิยมค้า อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านแหลม เพชรบุรี เป็นคนผลิตท่อพญานาค ที่สูบน้ำได้เร็วมาก จึงตัดสินใจนำเครื่องสูบน้ำจาก ตำบลหนองเต่าและพุคา จำนวน 10 เครื่องไป ช่วยสูบน้ำในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

         "การเดินทางออกจากบ้านหมี่ ลพบุรีเวลา 16.30 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เดินทางออกจาก โครงการมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ โดยใช้รถหกล้อยาวของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี ไปถึงเช้าเวลา 8.00 น.ของอีกวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 แล้วไปพักอยู่ที่ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันเพ็ญศิริ รอการร้องขอ โดยไปกัน 4 คน มีว่าที่ร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ ทองดี นายก อบต.พุคา นายบุญจันทร์ แปลงนาค สารวัตรกำนันตำบลพุคา มอบให้เป็นหัวหน้าชุด นายศักดินนท์ กระตุดนาค ช่างไฟฟ้าอบต.พุคา นายสมจิต เจริญศิลป์ อปพร. พุคา" ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เล่าให้ฟัง
         ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ยังเล่าอีกว่า สำหรับเครื่องสูบน้ำพญานาค มีเครื่องสูบน้ำของบ้านหนองเต่า หมู่ 7 จำนวน 2 เครื่อง บ้านหนองเลา ตำบลหนองเต่า 2 เครื่อง ท่อ PVC 8 นิ้ว เทอร์โบเจ็ท พุคาจำนวน 6 เครื่อง เป็นงบของกระทรวงมหาดไทยที่จัดซื้อโดยให้ตามแนวคิดของชุมชนว่าต้องการอะไร ออกแบบเฉพาะในไทยที่เดียว ผลิตขึ้นมาอย่างประหยัดไฟฟ้าที่สุด เคลื่อนย้ายง่าย  มีประสิทธิภาพสูงสุดเครื่องละแสนกว่าบาท แต่คุณภาพสูง มอบให้กับ อบจ.เชียงรายเป็นผู้ดูแล

         "การขนย้ายเข้าไปในถ้ำมีการไฟฟ้า ทหารคนพร้อมยก ไปอยู่ในโถงปากถ้ำก่อน เพราะเข้าไปดูแลโถง 1-2-3 พอสูบแล้วน้ำยุบลงไปเยอะ หน่วยซีลบอกใช้ได้ ขอให้ยุบอีก 30-40 เซนติเมตร เรียกได้ว่า เครื่องสูบน้ำของบ้านหมี่เป็นพระเอก เพราะภารกิจของเราคือทำให้น้ำยุบแล้วให้ซีลจะได้ไปค้นหาเด็กได้ การเดินเครื่องไม่หยุดจนกระทั่งเครื่องมอเตอร์ไหม้ไปเลย ส่วนของสมุทรสาคร นครปฐม เขาเป็นเครื่องแนวตั้ง ส่วนของอำเภอบ้านหมี่ท่อพญานาคแนวนอน  ไปเป็นชุดเดียวกัน" ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์เล่าให้ฟัง

         ส่วนเรื่องครูบาบุญชุ่ม ต้องคิดว่าในเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่มีความช่วยเหลือแต่อย่าไปคิดว่าเป็นความงมงาย เพราะมันอยู่คู่กับสังคมไทย มูลนิธิศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันเพ็ญศิริ ทำอาหารเลี้ยงแต่ก็ไม่ได้ไป ไปหากินแบบเจียมตัวที่ตลาด ได้ นางวัลลา เชื้อพลาม อดีตผู้ใหญ่บ้าน ตำบลมหาสอนบ้านหมี่ โอนเงินไปช่วยจากบ้านหมี่ 4200 บาท จึงรวมเป็นค่าใช้จ่าย
         การช่วยเหลือ 13  หมูป่า ออกมาได้เป็นการระดมทรัพยากร เพราะไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นที่ไทย เป็นการโปรโมทประเทศไทย จากการที่ระดมกำลังและข้อมูลทั้งโลกเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้รู้ว่า โลกใบนี้ยังน่าอยู่เพราะมีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9

สรศักดิ์ ทับทิมพราย รายงาน