ท้าวมาลีวราช สทนช. แก้ไขปัญหาแม่น้ำพิจิตร

ท้าวมาลีวราช สทนช.
แก้ไขปัญหาแม่น้ำพิจิตร
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

        

         พิจิตร เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำหลักไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน สภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รับปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำยมเกือบทั้งหมด พื้นที่มีปัญหาน้ำท่วม-แล้ง ประมาณ 7 แสนไร่ ครอบคลุม 10 อำเภอ จาก 12 อำเภอของจังหวัดพิจิตร นับว่าสาหัสสากรรจ์
         พูดถึงชื่อแม่น้ำพิจิตร กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพิ่งมาได้ยินหนาหูเอาเมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน ที่ผ่านมา
         แม่น้ำพิจิตร เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน ยาวประมาณ 128 กิโลเมตร แยกออกจากแม่น้ำน่านที่บ้านวังกระดี่ทอง ต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร ไหลลงไปสิ้นสุดที่บ้านบางคลาน ต.บางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร ไปบรรจบแม่น้ำยม ระหว่างทางของแม่น้ำพิจิตรแตกสาขาเป็นคลองข้าวตอก ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำน่านอีกครั้งหนึ่งด้วยความยาว 58 กิโลเมตร
         แม้เริ่มต้นเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน แต่สุดท้ายแม่น้ำพิจิตรกลายเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำยม ในขณะคลองข้าวตอก ยังคงถือเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน

         ถ้าเป็นภาพ ทางซ้ายมือจะเป็นแม่น้ำยม ขวามือเป็นแม่น้ำน่าน ตรงกลางจะเป็นแม่น้ำพิจิตรและคลองข้าวตอก คล้ายตัวอักษร Y กลับหัว
         แม่น้ำพิจิตร ยังขนาบด้วยคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐีและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว ของกรมชลประทานที่รับน้ำจากเขื่อนทดน้ำนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งอยู่ด้านเหนือของ จ.พิจิตร ประมาณ 87 กิโลเมตร
         แม่น้ำพิจิตรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเจ้าท่าและประสบปัญหาการบุกรุกสองฝั่งแม่น้ำ ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปัญหาวัชพืช แม่น้ำตื้นเขิน และปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมถึงไม่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำน่านได้

         กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ดงเศรษฐี บริเวณปากแม่น้ำพิจิตรที่แยกมาจากแม่น้ำน่าน บริเวณ ต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร เมื่อปี 2543 เพื่อผันน้ำเข้าแม่น้ำพิจิตร และได้โอนภารกิจให้กรมทรัพยากรน้ำ ปี 2545 และช่วงปี 2551-2555 กรมทรัพยากรน้ำยังได้ฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ระยะทางยาว 55 กิโลเมตร พร้อมกับก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 3 แห่งในแม่น้ำพิจิตร
         ชื่อ ปตร.ดงเศรษฐี คล้ายกับชื่อโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐีของกรมชลประทาน แต่เป็นแค่พ้องชื่อกัน เพราะสถานที่ก่อสร้าง ปตร. อยู่บริเวณบ้านดงเศรษฐี
         ปตร.ดงเศรษฐีและอาคารบังคับน้ำก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้งานช่วยแม่น้ำพิจิตรได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาวก็ไม่ยอมรับมอบโครงการ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าจากการสูบน้ำสูง จึงกลายเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงวันนี้
         ส่วนกรมชลประทานเองก็ไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่า การช่วยเติมน้ำในช่วงฤดูแล้งให้แม่น้ำพิจิตรจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐี ประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือประมาณ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พ้นจากนี้เป็นความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าที่ดูแลแม่น้ำสายนี้โดยตรง
         สภาพปัญหาของแม่น้ำพิจิตรคือความลักลั่นในการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานเกี่ยวข้อง อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายของแต่ละหน่วย ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ ไม่ค้างคา

         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานใหม่เข้าไปบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาแม่น้ำพิจิตรแบบครบวงจร และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
         แนวทางที่ สทนช. กำหนดไว้มี 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การแก้ปัญหาในแม่น้ำพิจิตรโดยตรง ได้แก่การซ่อมแซม ปตร.ดงเศรษฐี เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าแม่น้ำพิจิตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันแก้ไขปัญหาความตื้นเขินโดยการขุดลอกตะกอน รวมถึงปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งในแม่น้ำพิจิตรและคลองข้าวตอก ความยาวรวม 185 กิโลเมตร โดยมีหลายหน่วยงานเข้าไปดำเนินการ
         การแก้ไขปัญหาจากภายนอก เป็นการเติมน้ำจากโครงการส่งน้ำฯดงเศรษฐีของกรมชลประทาน โดยปรับปรุงอาคารระบายน้ำประมาณ 10 จุด เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำที่เติมให้แม่น้ำพิจิตรในฤดูแล้งได้มากขึ้น
         "สทนช. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาให้แม่น้ำพิจิตรสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว
         เชื่อว่ายังมีอีกโครงการที่มีสภาพปัญหาคาราคาซังแบบแม่น้ำพิจิตร และรอหน่วยงานกลางที่มีอำนาจและได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานต่างๆ อย่าง สทนช. เข้าไปคลี่คลายปัญหาเพื่อให้การพัฒนาเกิดประโยชน์ทุกภาคส่วนแบบยั่งยืนต่อไป