ซีพีเอฟ จับมือ PIM สร้างบัณฑิตมืออาชีพ ร่วมพัฒนาสู่ครัวโลก
  • 11 มิถุนายน 2018 at 02:32
  • 1149
  • 0

         คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะอุตสาหกรรมเกษตร ปีที่ 4 พร้อมเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.รูธ แมคโดนัลด์ ผู้เชี่ยวชาญ คณะวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตท สหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายเรื่องอาหารต้านมะเร็ง ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แจ้งวัฒนะ
         อาจารย์ ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM เปิดเผยว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้ก่อตั้งมาครบ 4 ปี จากอุดมการณ์ของซีพีเอฟ ที่ต้องการสร้างบัณฑิตมืออาชีพด้วยมืออาชีพ หรือ Creating Professional by Professional จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ PIM ให้มืออาชีพของซีพีเอฟมาร่วมออกแบบหลักสูตรร่วมกับคณาจารย์ของ PIM ใน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม และหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร โดยซีพีเอฟได้แต่งตั้งผู้บริหารมืออาชีพของบริษัทมากกว่า 100 คน มาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนเป็นรายวิชามาตลอด 3 ปี และปีนี้ นักศึกษารุ่นแรกกำลังศึกษาอยู่ปีที่ 4 พร้อมบรรจุเป็นพนักงานของซีพีเอฟทันทีหลังจบการศึกษา มีพื้นฐานการฝึกปฏิบัติงานจริงในฟาร์มมาตรฐานสากลของซีพีเอฟมากกว่า 60 ฟาร์ม นอกจากนี้ คณะฯ ยังตั้งเกณฑ์คุณภาพบัณฑิต 13 ประการ หรือ G13 เพื่อประเมินคุณภาพของนักศึกษาในภาคปฏิบัติตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 โดยมีคุณลักษณะโดดเด่นที่สุดของนักศึกษาที่พึงมี 3 ประการ จาก 13 ข้อ คือ บัณฑิตต้องเป็นคนดี เป็นคนเก่ง และต้องสามารถปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         "เราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งซีพีเอฟได้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ทั้ง 45 คน ที่จะเข้าฝึกงาน แบ่งเป็นสายธุรกิจสุกร 26 คน และสายธุรกิจสัตว์ปีก 19 คน และพร้อมทำงานกับซีพีเอฟตามสายงานที่เหมาะสมและความสนใจของนักศึกษาในเดือนมีนาคมปีหน้า ถือว่าบัณฑิตเหล่านี้เป็นอีกฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรได้" ดร.ถิรนันท์ กล่าว


         ด้าน นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับซีพีเอฟในการสร้างบันฑิตมืออาชีพที่พร้อมทำงานได้ทันที ด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบ Work-based Education ตามวิสัยทัศน์ของ PIM คือ "การเรียนทฤษฎีควบคู่กับการฝึกงานจริงในสถานประกอบการ" ด้วยการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน 45% ส่วนอีก 55% เป็นการฝึกปฏิบัติงานในฟาร์มสุกรและฟาร์มสัตว์ปีกของซีพีเอฟ โดยซีพีเอฟร่วมออกแบบหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม กับคณาจารย์ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM รวมทั้งหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหารที่ได้รับการออกแบบโดยมืออาชีพให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจแปรรูปอาหารของซีพีเอฟ โดยนักศึกษาจะผ่านการฝึกงานอย่างเข้มข้นตลอดหลักสูตร 4 ปี และที่ผ่านมา คณาจารย์และทีมงานซีพีเอฟต่างมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการสอนด้วยพื้นฐานการใฝ่รู้และเรียนรู้ ถือเป็น Learning Organization ที่มุ่งเน้นการผลักดันให้นักศึกษาสร้างความคิดริเริ่มรวมทั้งต่อยอดไปเป็นนวัตกรรม
         "เอกลักษณ์ของ Work-based Education ที่จัดให้มีการเรียนในภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎีนั้น ได้ช่วยผลักดันให้บัณฑิตของ AGI ทุกคนสามารถปฏิบัติงานจริงกับซีพีเอฟได้ทันที ทั้งนี้ บัณฑิตในสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์มจะเป็นบุคลากรจริงของซีพีเอฟในเดือนมีนาคม 2562 และจะมีบัณฑิตในสาขาวิชาการจัดการแปรรูปอาหารที่จะสำเร็จการศึกษาในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทันที และจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการนำพาซีพีเอฟไปสู่เป้าหมาย CP 4.0 ต่อไป" นายสมควร กล่าว