สศก. เปิดข้อมูลไม้ผลภาคใต้ตอนบน รอบแรกเพิ่มขึ้น 79%

         นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข้อมูลไม้ผลเอกภาพรอบที่ 1 ปี 2561 ของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ในภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ต ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) และศูนย์สารสนเทศการเกษตร (ศสส.) ร่วมมือกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ พยากรณ์ข้อมูลไม้ผล ปี 2561 ครั้งที่ 1 (ข้อมูล ณ เดือน มี.ค.61) พบว่า
         เนื้อที่ให้ผล 4 สินค้า มีจำนวน 525,647 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 3,085 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59) โดยเฉพาะทุเรียน เพิ่มขึ้นจำนวน 13,288 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.63) ส่วนผลไม้อีก 3 ชนิด เนื้อที่ให้ผลลดลง โดยเงาะลดลงมากที่สุด คือร้อยละ 7.62 รองลงมาได้แก่ ลองกอง ลดลงร้อยละ 5.04 และ มังคุดลดลงร้อยละ 0.39
         ผลผลิตรวม 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 440,579 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 195,179 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.54) โดยลองกอง จะเพิ่มขึ้นมากสุด ร้อยละ 872.26 มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 123.38  เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.75 และ ทุเรียน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.49 ทั้งนี้ ผลผลิตทั้ง 4 สินค้า เพิ่มขึ้นทุกชนิด เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำเพียงพอ และปีที่แล้วออกดอกติดผลน้อย ทำให้ต้นมีโอกาสได้พักตัวสะสมอาหารเต็มที่ ซึ่งคาดว่า ผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือน ก.ค. ต่อเนื่องถึงกลางเดือนกันยายน

         ผลผลิตต่อไร่ 4 สินค้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งหมด เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับในปีที่ผ่านมาไม้ผลบางต้น ไม่ติดผลหรือให้ผลผลิตน้อย ทำให้มีเวลาในการพักต้นสะสมอาหารต้นสมบูรณ์ขึ้น และแม้ว่าต้นทุเรียนประสบปัญหาเชื้อราไฟทอปเธอราที่ระบาด แต่ไม่เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากพื้นที่ให้ผลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทุเรียนสาวที่เริ่มให้ผลเพิ่มขึ้นมาทดแทนเป็นจำนวนมาก
         นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผอ.สศท.8 กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยให้จังหวัดคำนึงถึงการบริหารจัดการผลไม้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิต อย่างไรก็ตาม หากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศของภาคใต้มีฝนตกค่อนข้างมาก และมีมรสุมเข้ามาสม่ำเสมอ และอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย  ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนอีกครั้งหลังกลางเดือน มี.ค. ถึง เม.ย. เป็นต้นไป โดย สศท.8 จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและลงพื้นที่สำรวจในเดือน พ.ค. ถึง ต้น ก.ค.2561 ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 077 311 597 หรืออีเมล zone8@oae.go.th