รมว.วิทย์ฯ เยี่ยมชมสถาบันวิจัยชั้นนำด้านเกษตรที่เยอรมนี

 

         เมื่อ 18 เม.ย.61 ที่เมืองโคโลญน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รายงานแจ้งว่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าเยี่ยมชมสถาบัน Forschungszentrum Jülich (ฟอชุมเซนทลัม จูลิช) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. คณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชน โดยมี Prof. Dr. Ing Harald Bolt ผู้อำนวยการสถาบันฯ ให้การต้อนรับ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture) เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หนุน EECi ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
         ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ได้ดำเนินโครงการ "The Collaborative Bioeconomy International Project" ร่วมกับสถาบัน Forschungszentrum Jülich (ฟอชุมเซนทลัม จูลิช) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ จีโนไทป์ และสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของรากสะสมอาหารของมันสำปะหลังเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรกรแม่นยำ (precision technology) เพื่อการยกระดับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงขึ้นภายใต้การใช้ทรัพยากร (น้ำ) อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โครงการวิจัยร่วมนี้ใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลสหพันธ์รัฐเยอรมนี (เงินทุนประมาณ 32 ล้านบาท) และ สวทช. (เงินทุนประมาณ 30 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2560-2562) ในพื้นที่จังหวัดระยอง มีความก้าวหน้า ได้แก่

         - ศึกษาลักษณะทางสรีรวิทยาของการสร้างรากมันสำปะหลัง ที่มีผลต่อการเจริญโตและการสะสมอาหารของรากมันสำปะหลังในระบบโรงเรือน พร้อมทั้งการปลูกทดสอบในสภาพแปลง ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
         - ศึกษาลักษณะฟีโนไทป์ของการพัฒนาของรากมันสำปะหลัง จำนวน 600 สายพันธุ์ที่เก็บรวบรวมไว้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ จ.ระยอง ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร และเนคเทค สวทช. ปลูกมันสำปะหลังไปแล้ว ประมาณ 300 สายพันธุ์ มีข้อมูลฟีโนโทป์ของการพัฒนารากมันสำปะหลัง ประมาณ 100 สายพันธุ์ โดยพบว่าสายพันธุ์แต่ละชนิดมีการพัฒนาต่างๆ กันค่อนข้างชัดเจน และได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อตรวจสอบข้อมูลการเติบโตของของรากและการสะสมรากอาหาร
         - การศึกษาเพื่อระบุตำแหน่งและเครื่องหมายโมเลกุล และยีนด้วยเครื่องมือทางจีโนม โดย ไบโอเทค สวทช. หน้าที่ของยีนที่ควบคุมการสร้างรากมันสำปะหลังในระบบการถ่ายยีนของมันสำปะหลังเพื่อยืนยันหน้าที่ของยีน และใช้สำหรับโปรแกรมการคัดเลือกเบื้องต้นของงานด้านการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง โดย ไบโอเทค สวทช. ผลของการวิจัยสกัดดีเอนเอของมันสำปะหลังของสายพันธุ์ที่มีการสะสมรากอาหารแตกต่างกันเพื่อศึกษาว่ายีนใด ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเปลี่ยนจากรากฝอยเป็นรากสะสมอาหาร (มีผลต่อผลผลิตมันสำปะหลัง)
         จากเยี่ยมชมนี้ ยังจะมีความร่วมมือในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม (Joint Research Lab) ด้านเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture) ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือในพื้นที่ EECi กับสถาบันForschungszentrum Jülich (ฟอชุมเซนทลัม จูลิช) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อยกระดับการเพิ่มผลผลิตของเศรษฐกิจฐานชีวภาพเสริมความแข็งแกร่งของประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน

ที่มา สวทช.