ระวังเพลี้ยไฟบุกสวนส้ม-หนอนแมลงวันรุมกินโต๊ะเห็ด-มอดเจาะผลกาแฟ

 

    สภาพอากาศที่แห้งแล้ง แปรปรวน กลางวันร้อนจัด กรมวิชาการเกษตร เตือนเจ้าของสวนส้มเขียวหวานให้เฝ้า ระวังเพลี้ยไฟ ในระยะที่ส้มติดผลอ่อนจนถึงผลส้มมีขนาดเบอร์ 4 จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ แคบเรียว กร้าน โดยเฉพาะระยะผลอ่อน ตั้งแต่กลีบดอกร่วงจนถึงผลส้มเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร โดยจะเกิดวงสีเทาเงินบริเวณขั้วและก้นผล ทำให้ผลแคระแกร็น

      แนวทางป้องกัน เกษตรกรควรควบคุมบังคับให้ต้นส้มแตกยอด ออกดอก และติดผลในระยะเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการพ่นสารเคมี ช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่พบในสวน จากนั้น ให้เก็บยอด ใบ หรือเด็ดผลอ่อนที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายนำไปเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเพลี้ยไฟ ช่วยให้ต้นส้มฟื้นตัวเร็วขึ้น ช่วยการแตกยอดของส้มรุ่นต่อไป โดยเกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูเพลี้ยไฟในแปลงปลูกช่วงที่ส้มเขียวหวานแตกใบอ่อนและผลอ่อน หากพบการเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือพบเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ  20 ลิตร หรือสารคาร์โบฟูแรน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

      ส่วนเกษตรกรที่ เพาะเห็ดสกุลนางรม ให้เฝ้าระวังหนอนแมลงวันเซียริดและหนอนแมลงวันฟอริด ในช่วงบ่มเส้นใยจนถึงช่วงเปิดดอก ซึ่งจะพบหนอนแมลงวันกัดกินเส้นใยเห็ด ทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญ ถ้าระบาดรุนแรงก้อนเห็ดจะยุบตัว และเห็ดในระยะออกดอก มักพบหนอนแมลงวันเจาะเข้าไปทำลายโคนต้นและหมวกดอก ทำให้ดอกเน่าเสียเป็นโรคได้ แนวทางการป้องกัน ให้ทำความสะอาดโรงเรือน พ่นบริเวณพื้นฝาผนังหลังคาให้ทั่วด้วยสารคลอรอกซ์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารมาลาไทออน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อฆ่าแมลงและเชื้อโรคที่สะสมในโรงเรือน จากนั้น ปิดโรงเรือนให้มิดชิด และทิ้งไว้ 7-10 วัน

      อีกทั้ง การเลือกซื้อหัวเชื้อพันธุ์เห็ดหรือถุงก้อนเชื้อเห็ด ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ไม่มีประวัติการระบาดของแมลงวันศัตรูเห็ดมาก่อน และหากพบตัวแก่ของแมลงเกาะตามมุมโรงเรือน ฝาผนัง หรือมุมอับ ให้พ่นด้วยสารกำจัดมาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดอะซินอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลีกเลี่ยงการพ่นลงบนเห็ดหรือถูกเห็ดโดยตรง และหากพบก้อนเชื้อเห็ดมีรอยทำลายของหนอนแมลงวันควรทำการฝังหรือเผาทิ้ง เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ป้องกันการแพร่กระจายเข้าสู่โรงเรือนข้างเคียง

      ด้าน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอะราบิกา ให้เฝ้าระวังมอดเจาะผลกาแฟเข้าทำลายในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟ โดยจะพบมอดตัวเต็มวัยเข้าทำลายผลกาแฟตั้งแต่กาแฟมีขนาดผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 มิลลิเมตรขึ้นไป และมอดเพศเมียจะเจาะผลกาแฟบริเวณปลายผล สะดือของผล และภายในผลที่จะพบแมลงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต (ระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย) ซึ่งตัวมอดจะอาศัยกัดกินและขยายพันธุ์อยู่ภายในผลจนกระทั่งผลกาแฟสุก แนวทางการป้องกัน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟ เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟให้หมดทั้งต้น โดยไม่ให้มีผลติดค้างอยู่บนต้นหรือร่วงหล่นตามพื้นดินใต้ต้น เพื่อลดการสะสมและขยายพันธุ์ของมอดในแปลงปลูก หากพบการระบาดรุนแรง ให้เลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ สารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร