CPF ไต่มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม ด้าน องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ หวังหยุดเลี้ยงหมูยืนซอง

         เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประกาศผลการจัดอันดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม (Business Benchmark on Farm Animal Welfare : BBFAW ) ประจำปี 2017 ณ ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ในจำนวน 110 บริษัททั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับ มีชื่อ CPF - บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย และถูกจัดอยู่ในลำดับขั้นที่ 5 (ขั้นที่ 1 คือดีที่สุดและขั้นที่ 6 คือแย่ที่สุด) ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับ CPF บริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ของไทยที่สามารถไต่ระดับพ้นจากขั้นสุดท้ายของการจัดอันดับมาตรฐานระดับโลกเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม
         นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์โครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ประเทศไทย กล่าวว่า CPF ได้เริ่มต้นนโยบายที่จะยกเลิกการใช้คอกกักขัง (Confinement Farm) ในระบบปิดต่อสัตว์ในฟาร์ม ซึ่งตอนนี้เราต้องการเห็นบริษัทให้คำสัญญาถึงกำหนดเวลาและกระบวนการในการยุติระบบการเลี้ยงแบบกักขังไปเป็นการเลี้ยงแบบคอกรวม (Group Housing) นักลงทุนควรเรียกร้องให้ CPF สรุปแนวทางในการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอย่างมีเป้าหมายและกรอบเวลาที่ชัดเจนเพื่อหยุดการกักขังและพัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์ในฟาร์มทุกชนิด ซึ่งรวมถึง สุกร แม่ไก่ และไก่เนื้อ

         ทั้งนี้ในปี 2017 บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทย ได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โดยเบทาโกรได้ให้คำสัญญาต่อสาธารณะว่าจะหยุดกักขังแม่สุกรอุ้มท้องและระหว่างออกลูก ให้สำเร็จได้ภายในปี 2027 ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบเวลาดำเนินการและกระบวนการทำงานเพื่อบรรลุการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่มีความชัดเจน
         สำหรับการขยับลำดับขึ้นมาในปีนี้ของ CPF เป็นผลมาจากการดำเนินงานตามนโยบายที่บริษัทได้ประกาศไว้ในปี 2016 เพื่อพัฒนาด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม และให้คำสัญญาว่าจะดำเนินการตามหลักอิสระภาพ 5 ประการ รวมทั้งดำเนินกิจการให้สอดคล้องตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม
         ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา CPF ได้รับการประเมินว่าสามารถทำตามคำสัญญาสำเร็จเป็นบางส่วนในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม เช่น หลีกเลี่ยงการจำกัดสัตว์ไว้ในระบบปิดและแออัด หลีกเลี่ยงการตัดต่อพันธุกรรมและโคลนนิ่ง และมีมาตรฐานขั้นตอนต่างๆ ก่อนการเชือดเพื่อให้สัตว์ปลอดความรู้สึกทรมาน อีกทั้ง CPF ยังดำเนินการให้ฟาร์มที่มีสัญญากับบริษัท ได้ปฏิบัติตามและดำเนินนโยบายสอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ด้วย และให้ความมั่นใจว่า สัดส่วนของผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานโลกด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มทั้งที่เป็นระดับพื้นฐานหรือสูงกว่า แต่ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆ ในระดับเดียวกัน เช่น บริษัท บีอาร์เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (BRF) ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ผลิตไก่แบบครบวงจรและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุกชั้นนำจากประเทศไทย และกลุ่ม WH บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน พบว่าการดำเนินงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มของ CPF ยังคงล้าหลังกว่ามาก ที่สำคัญ CPF ไม่ได้รายงานสัดส่วนของสุกรที่เป็นอิสระจากคอกกักขังในระบบปิด และนี่คือเหตุผลที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้ CPF ประกาศกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินงานตามนโยบายพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มเช่นเดียวกับที่เบทาโกรได้ประกาศอย่างชัดเจนไปแล้ว