สวทช. เชิญฟังบรรยาย "ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานน้ำผึ้งไทย"
  • 4 มีนาคม 2018 at 11:38
  • 2762
  • 0

         มีการประมาณการว่าพืชกว่า 75-95% ทั่วโลก หรือกว่า 180,000 ชนิดพันธุ์ ต้องพึ่งพาแมลงผสมเกสร ทุกๆ คำที่เราได้ทานผลไม้นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการผสมเกสรโดยแมลงต่างๆ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 217 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
         พืชผักผลไม้ที่พึ่งการช่วยถ่ายละอองเกสรจากผึ้งได้แก่ ส้ม ตรอว์เบอร์รี แคนตาลูป แตงโม พริกหยวก มะเขือ องุ่น มะม่วง แตงกวา ลูกท้อ กาแฟ เงาะ ทุเรียน เป็นต้น ผึ้ง และชันโรง เป็นแมลงผสมเกสรที่มีศักยภาพ และมีการส่งเสริมการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากบทบาทที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตในสวนเกษตรแล้ว ยังมีการเก็บผลพลอยได้เป็น "น้ำผึ้ง" ที่มีคุณค่าทั้งทางโภชนาการ อุดมไปด้วยพลังงาน วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน และมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ

         ประเทศไทย มีเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งพันธุ์ไม่น้อยกว่า 1,100 ฟาร์ม ได้ผลผลิตน้ำผึ้งมากกว่า 10,000 ตัน ผลผลิตดังกล่าว ทำให้เกิดรายได้กับเกษตรกรทั้งที่บริโภคในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ ปัจจุบัน กระบวนการผลิตน้ำผึ้งมักประสบปัญหาการปนเปื้อน ทำให้ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์
         นอกจากนี้ เกษตรกรบางพื้นที่เริ่มมีการผลิตน้ำผึ้งจากผึ้งพื้นเมือง ที่มักประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของผลผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการผลิตน้ำผึ้งจากผึ้งพื้นเมือง และชันโรง ยังไม่มีมาตรฐานรองรับที่ชัดเจน การแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพและมาตรฐาน และการยกระดับคุณภาพนั้น สามารถดำเนินการได้โดยใช้กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มาตรฐานคุณภาพสินค้าน้ำผึ้งของประเทศไทยมีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ

         เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดการบรรยายในหัวข้อ "การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานน้ำผึ้งไทย" ในวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2561 เวลา 09:00 – 12:00 น. ที่ห้องประชุม CC-308  อาคาร 14 (อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
         โดยจะมีการประชุมวิชาการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานและคุณภาพน้ำผึ้งของประไทย จากนักวิจัย นักวิชาการ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเสริมสร้างศักยภาพการผลิตน้ำผึ้งในประเทศไทยต่อไป
         ผู้สนใจรับฟังการบรรยายสามารถลงทะเบียนฟรีได้ที่ https://goo.gl/Wh8527 หรือสอบถามโทร. 0-2564-8000