ความสุขสงบกลางชุมชนหลากชาติพันธุ์
  • 26 กุมภาพันธ์ 2018 at 11:38
  • 811
  • 0

 

 

ท่ามกลางความเหมือนของชุมชนบ้านเอื้ออาทรแนวราบ ก็มีความต่างในชุมชนบ้านเอื้ออาทรเชียงราย แม่สาย 1-2 ซึ่งแม่สายเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.เชียงราย อยู่ทิศเหนือติดกับแม่น้ำสาย เส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาร์ โดยความต่างคือสมาชิกโครงการบ้านเดี่ยวเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติแห่งนี้ จำนวน 1,143 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน จีน รวมแล้วมากกว่าครึ่งของโครงการ

         “เขาอยากมาอยู่ประเทศไทย บางคนมีลูกเขยเป็นคนไทย บางคนมีเงินสดมาซื้อบ้านเลยในชื่อญาติที่มีสิทธ์ซื้อเพื่อหวังได้สัญชาติไทยก็มี เพราะที่นี่สงบและมีโอกาสในการทำมาหากิน แรกๆ มาอยู่ก็ต่างคนต่างอยู่ จึงต้องหากิจกรรมร่วมกันทำ โดยเฉพาะงานบุญ งานบวช งานวัฒนธรรมที่เขาติดตัวข้ามฝั่งมา บางคนมาอยู่ลำพังโดดเดี่ยว มีปัญหาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ได้คณะกรรมการชุมชนช่วยเหลือ เขาก็รู้สึกดี พอขอความร่วมมือก็ยินดี ไม่มีติดขัด ยิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้จักกัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น” ทั้งนายปองพล นวรัตน์ หัวหน้าสำนักงานเคหะชุมชนเชียงราย การเคหะแห่งชาติ และนายภูวนนท์ ยั่งยืน ประธานกรรมการชุมชนบ้านเอื้ออาทรเชียงราย แม่สาย 1 พูดทำนองเดียวกัน

         ลำพังการเดินไปสู่ความสามัคคีเข้มแข็งมีปัจจัยภายในอย่างเดียวก็อาจไม่พอ ยังต้องมีปัจจัยภายนอกเข้ามาสนับสนุน นายภูวนนท์ยอมรับว่า หัวหน้าสำนักงานเคหะชุมชนเชียงรายอย่างนายปองพล นวรัตน์ มีส่วนผลักดัน เพราะนำเอากิจกรรมจากหลายๆ หน่วยงานมาลงในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ครอบครัว ทำให้มีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดเวลา และวางรากฐานความเข้มแข็งในเชิงยุทธศาสตร์ โดยมุ่งไปที่ครอบครัว “ผมเน้นครอบครัวเป็นพื้นฐาน กิจกรรมไหนเอาครอบครัวมาร่วมได้ต้องทำ เช่น การสอนการนวด เพื่อให้กลับไปนวดกันเองที่บ้านเป็นการใส่ใจระหว่างสามีภรรยาหรือลูก การสอนสูตรทำอาหาร กลับไปทำกินเองหรือทำขาย  ช่วยให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้น ลดความรุนแรงไปในตัว เด็กๆ เองได้รับความอบอุ่นและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเขาในอนาคต” นายปองพลกล่าว

 

 

         หัวหน้าสำนักงานเคหะชุมชนฯ ยอมรับว่า คนจากชาติพันธุ์เหล่านี้อยากได้รับสัญชาติไทย เพราะเมืองไทยพัฒนามาก เมื่อเทียบกับบ้านเดิมของพวกเขา บวกกับมีวัฒนธรรมดีงามบางประการที่เป็นจุดแข็ง เช่น การชอบทำบุญ หรือการแสดงต่างๆ เมื่อมีกิจกรรมก็จะเข้าร่วมอย่างเต็มที่ ขณะที่ประธานกรรมการชุมชนฯ ยอมรับว่า วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์แข็งแรงมาก เช่น การแสดงรำนกยูงของกลุ่มไทใหญ่ การรำสิงโตของมอญ วัฒนธรรมการแต่งกาย จนกระทั่งในระยะหลังๆ เริ่มมีคนไทยในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น แทนการแยกกันอยู่ แยกกันทำบุญ และพลอยทำให้คนไทยได้ซึมซับสิ่งดีๆ เหล่านี้ โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ให้ชุมชนเข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่แบ่งแยกกัน เพราะจริงๆ แล้วรากเหง้าก็ไม่ต่างกัน เช่น นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ภาษาไทยกับไทใหญ่คล้ายๆ กัน ฟังกันรู้เรื่อง

         จากจำนวนประชากร 400-500 คนของบ้านเอื้ออาทรเชียงราย เฉพาะแม่สาย 1 ที่นายภูวนนท์ให้ตัวเลข ที่นี่มีผู้สูงอายุมากถึง 100-200 คน เฉพาะโครงการแม่สาย 1 ที่มีจำนวน 647 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ข้ามฝั่งมาอยู่กับลูกหลาน และผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่เฉย หากแต่ยังนำเอาอาชีพที่เคยทำตามมาด้วย เช่น การจักสานผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ จากไม้ไผ่ การทอผ้า ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน บางครั้งมีเด็กไปเรียนรู้ที่บ้าน หรือผู้สูงอายุได้รับเชิญให้ไปสอนการสานลายให้นักเรียน โดยมีการเคหะแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนงบประมาณ

         ความสงบปลอดภัยในชุมชนเป็นกิจกรรมจิตอาสาแรกๆที่ทำ คืออาสาสมัครตำรวจบ้านร่วม 20 คน โดยทำงานสอดประสานกับ สถานีตำรวจภูธรแม่สาย แรกๆ มีเด็กวัยรุ่นติดยา แต่พอมีอาสาสมัครตำรวจบ้านก็ค่อยๆ หายไป จนได้รับการยอมรับจาก สถานีตำรวจภูธรแม่สาย ว่าเป็นชุมชนปลอดยาเสพติด ส่วนปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญและไม่เฉพาะแต่เรื่องการค้าประเวณี แต่หากครอบคลุมถึงการค้าแรงงานเอาเปรียบ การขอทาน ซึ่งมีการจัดอบรมให้ชาวชุมชนมีความรู้และระวังตัว ด้านเด็กเยาวชนวัย 13-15 ปีในชุมชนบางคน มีศักยภาพในการเล่นฟุตซอล คัดเลือกตัวที่ไหน ติดที่นั่น แต่มีปัญหาคือไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่สามารถส่งตัวไปแข่งขันได้ จนกว่าจะเข้าตาโค้ช หรืออำเภอ จังหวัด ซึ่งจะทำเรื่องขอสัญชาติให้ เป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาให้เป็นระบบ เพราะจะช่วยให้มีการคัดกรองการให้สัญชาติไทยแก่คนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ ทำประโยชน์แก่ประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น

 

 

        ความเข้มแข็งของชุมชนนั้น นายปองพลกล่าวว่า เมื่อขอความร่วมมือในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งก็ได้รับความร่วมมือมากันพรึบ 300-400 คน คิดเป็น 70-80% ตัวเลขนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนกว่าคำพูดใดๆ และด้วยความเข้มแข็งที่ว่า ชุมชนแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกจากการเคหะแห่งชาติ ให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด “โครงการชุมชนสดใส จิตใจงดงาม” เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

        นับเป็นชุมชนหลากวัฒนธรรม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างเข้มแข็งและสงบสันติอย่างน่าชื่นชม